จับสัญญาณส่งออกไทยขาขึ้นจากแรงบวกเศรษฐกิจโลก
ส่งออกไทยร้อนแรงต่อเนื่อง 5 เดือนแรก ทะลุแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าก็ไม่น้อยหน้าขยายตัวสูง 21.51% ส่งสัญญาณส่งออกไทยสดใสถึงสิ้นปี
การส่งออกไทยเดือน พ.ค.มีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวพุ่ง 41.59 % เป็นการขยายตัวที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2553 ที่เดือนนั้นไทยส่งออกขยายตัวได้ถึง 45 % โดยปี 2553 เป็นช่วงหลังจากที่โลกเจอวิกฤตการเงิน เป็นการทุบสถิติส่งออกไทยในรอบ 11 ปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยร้อนแรงมากมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด 19 การเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยต้องการสินค้าสูง ไทยในฐานะซัพพลายเชนก็ได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในขณะนี้
โดยตลาดส่งออกของไทย 20 อันดับแรกกที่ครองสัดส่วน 85 %ของการส่งออกรวม ขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดศักยภาพของไทย คือ ตลาดสหรัฐขยายตัวสูงถึง 44.9 % มูลค่า 3,152 ล้านดอลลาร์ จากที่เดือนเม.ย.ขยายตัวเพียง 9 % ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 27.4 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัว54.9% ตลาดจีน ขยายตัว 25.5% ขณะที่ตลาดอาเซียน (5)ที่เคยติดลบ ก็กลับมาขยายตัวแบบก้าวกระโดดในรอบ 5 เดือนแรกที่ 51 % จากเดือนเม.ย.ติดลบ 4.4 %
สินค้าที่เป็นพระเอกสำคัญและมีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยทะลุ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ คือสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขยายตัวถึง 48 % โดยมีมูลค่า 17,944 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึง 170.3 % เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 86.3 % ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง คือ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่นับรวมทองคำ มีการขยายตัวสูง 113.3 % ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าของไทย
ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรก็ยังแรงไม่ตกขยายตัว 14.3 % มูลค่า 4,220 ล้านดอลลาร์ จากเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวเพียง 7.25 % โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีคือ ยางพารา ขยายตัว 99.2 % ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 31.9 % อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 24 %
สัญญาณที่ชัดเจนอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนการส่งออกของไทยคือการนำเข้ายังร้อนแรงต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,909 ล้านดอลลาร์ เดือนก.พ.20,211 ล้านดอลลาร์ เดือนมี.ค.23,511 ล้านดอลลาร์ เดือนเม.ย.21,246 ล้านดอลลาร์ และเดือนพ.ค.22,262 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม 5 เดือนแรก มูลค่าการนำเข้า 107,141 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.52 % เมื่อเทียบกับ 5 เดือนของปี 2563 ที่เจอวิกฤติโควิด การนำเข้าของไทยติดลบ 12.28 % มูลค่าเพียง 88,168 ล้านดอลลาร์
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การส่งออกของไทยยังร้อนแรง เพราะหากการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เพื่อนำมาผลิตสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งต้นปีจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตกลับมาแล้ว ทั้งสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุน ดูจากสินค้าเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันดิบการนำเข้าในเดือนพ.ค.พุ่ง 254 % จากที่เดือนเม.ย.นำเข้าเพียง 54.3 % ขณะที่สินค้าทุน เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบนำเข้าเพิ่มถึง 57 % เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่นำเข้าเพียง 16.5% เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบนำเข้า 24.6 % จากเดือนเม.ย.นำเข้า 7.2 %
การส่งออกของไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวมาโดยตลอดดูจากเดือนม.ค.ขยายตัว0.35 % มูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์แม้เดือนก.พ.ส่งออกติดลบ 2.59 %แต่มูลค่าก็ยังแตะระดับ 20,219 ล้านดอลลาร์ แต่ในเดือนมี.ค.การส่งออกก็กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 8.47% มูลค่า24,222.45 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกเดือนเม.ย..256 4 ขยายตัวด้วยตัวเลข 2 ครั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย.61 ที่ 13.09 % มูลค่า 21,429 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดเดือนพ.ค.ทำสถิตินิวไฮที่ 41.59 % มูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ รวม 5 เดือนแรก ทำยอดส่งออก 108,635.22 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก จะเติบโตถึง 17.13% ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การส่งออกของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นโตต่อไปจนถึงสิ้นปี และคาดว่าทั้งปีการส่งออกไทยจะโต 7-10 %
แม้ว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว การกระจายวัคซีนของทั่วโลก แต่คงต้องจับตามองการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19อีกครั้งหนึ่งแม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วในหลายประเทศ ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า โควิด-19 จะไม่กลับมาอีก เพราะเริ่มมีข่าวมากขึ้นในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนคลอบคลุมประชากรไปเกือบ 100 % ผู้ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วยังกลับมาติดเชื้อโควิดได้อีก ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด