ปลุกกระแส 40 หุ้น 'กัญชง-กัญชา' เก็งกำไรอย.คลอดไลเซ่นส์
ราคาหุ้นอิง "กัญชง-กัญชา" จ่อฟื้น โบรกฯ ชี้รับอานิสงส์ อย.ทยอยประกาศผลไลเซ่นส์นำเข้า-โรงสกัด ปลุกกระแสเก็งกำไรอีกครั้ง พร้อมสแกนหุ้นเด่นน่าลงทุนหวังผลตอบแทนระยะสั้น-ยาว
กระแสหุ้น "กัญชง-กัญชา" กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทยอยผงกหัวขึ้น นำโดย บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) บวก 9.56% บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) 5.64% และ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) 5.60% ภายหลังสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศว่า DOD เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) สกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงรายแรกของไทย โดยนักวิเคราะห์คาดว่ารายอื่นๆ จะทยอยประกาศตามมา
นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทแนะนำธีมการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชา เพราะคาดว่าในช่วงที่เหลือของเดือน มิ.ย.จะได้ประโยชน์จากที่ อย.ทยอยประกาศผลบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงสกัดกัญชง รวมถึงในช่วงถัดไปคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการพิจารณานำสาร CBD และ THC มาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์
สำหรับหุ้นเด่นในกลุ่มที่แนะนำ ได้แก่ กลุ่มต้นน้ำ RBF และ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กลุ่มการสกัด RBF และ บมจ.เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค (KWM) และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม บมจ.โอสถสภา (OSP) ICHI และ บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE) โดยกลยุทธ์การลงทุนสามารถซื้อเก็งกำไร รวมถึงถือเพื่อรับผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาวได้
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด กล่าวว่า มุมมองการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชา ฝ่ายวิจัยชื่นชอบธุรกิจกลางน้ำมากที่สุด เพราะมองว่าการสกัดสาร CBD จะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทจากความต้องการที่ค่อนข้างสูง รวมถึงธุรกิจกลางน้ำมีความเสี่ยงน้อยกว่าธุรกิจต้นน้ำ และมีการแข่งขันต่ำกว่าธุรกิจปลายน้ำ
โดยหุ้นเด่นที่แนะนำลงทุน ได้แก่ RBF ราคาเหมาะสม 23 บาทต่อหุ้น และ DOD 17 บาทต่อหุ้น จากที่ทั้ง 2 บริษัทมีโรงสกัดแล้ว และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต รวมถึง SAPPE 36 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ มองว่าทั้ง 3 บริษัทสามารถถือลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาวได้
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำเก็งกำไรหุ้นในธีมกัญชง โดยเน้นหุ้นที่ยังไม่ประกาศประเด็นบวก หรือระยะสั้นยังมีแรงเก็งกำไรน้อย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีประเด็นรอประกาศอนุญาตโรงงานเพื่อผลิตสกัดสาร CBD เชิงพาณิชย์ เช่น DOD และ RBF 2. กลุ่มที่มีประเด็นรอประกาศอนุญาตให้สามารถใช้สาร CBD ในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ICHI SAPPE และ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG)
และ 3. กลุ่มที่ระยะสั้นยังไม่เห็นการกลับมาเก็งกำไร โดยหลักเป็นกลุ่มหุ้นเครื่องสำอาง สกินแคร์ และอาหารเสริม เช่น บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) และ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN) ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรกับ DOD และมีโอกาสเห็นการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2564
"แต่แนะนำเก็งกำไรอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมาแรงเกินพื้นฐาน พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรย้อนหลัง (Trailing P/E) นอกจากนี้ หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ พบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะขาดทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยหลักมาจากการใช้งบลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) การควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ และการทำการตลาด ซึ่งคาดว่าบริษัทในไทยน่าจะมีความคล้ายกัน"