Carbon Markets Club กลไกหนุน“ธุรกิจสีเขียว”

Carbon Markets Club กลไกหนุน“ธุรกิจสีเขียว”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกต้องร่วมกันพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU (ออนไลน์) ระหว่างพันธมิตร 11 หน่วยงานที่ถือเป็นสมาชิกตั้งต้นหรือ founding members ของเครือข่ายฯ ร่วมกันลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจผ่านการซื้อขายคาร์บอน ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ,บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า เรื่องของลดการปล่อยมลพิษ(emission) ถือเป็นงานภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีหลายหน่วยงานขนาดเข้ามามีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน ทั้ง กฟผ. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ซึ่งทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานที่ออกใบรับรองเกี่ยวกับคาร์บอนต่างๆ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เป็นกลุ่ม SME และในอนาคตคาดว่าจะได้รับผลกระทบพอสมควร อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่จะเข้ามาเป็นผู้ก่อการจัดตั้ง Carbon Markets Club

การซื้อขายคาร์บอนเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ความพยายามลดอุณหภูมิโลก โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นผู้ผลิตหรือมีรายได้จากอุตสาหกรรมหนักหรือใช้พลังงานฟอสซิล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อขายคาร์บอนหรือการจ่ายภาษีทางอ้อม เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนไปอุดหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้เราเริ่มเห็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ non-tariff barriers จากประเทศต่างๆ เช่น European Green Deal เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น ประเทศนอร์เวย์ เก็บภาษีคาร์บอนแพงมาก ประมาณ 80 ยูโรต่อตัน และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 200 ยูโรต่อตัน ขณะที่อียูในอนาคตจะมีการผลักดันหากอุตสาหกรรมใดผลิตโดยมีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงกว่าอุตสาหกรรมที่ผลิตในอียู อุตสาหกรรมนั้นจะมีเสียภาษีคาร์บอน หรือมีการซื้อคาร์บอนเครดิต

162488361387

ฉะนั้น ประเทศไทยเองจะต้องเตรียมพร้อมโดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะวางแผนการผลิตให้ตอบโจทย์ Net Zero ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง ก็สามารถดำเนินการผ่าน ส.อ.ท. และกลไกนี้ ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่มีราคา ณ ปัจจุบันของไทย อยู่ที่ 25 บาทต่อหน่วย ก็จะถูกกว่าในอนาคตที่ต้องไปถูกปรับที่ยุโรป ณ วันนี้ อยู่ที่ 50 ยูโร ก็ประมาณ 1,500-1,600 บาทต่อหน่วย และในอนาคตอาจขึ้นไปอยู่ที่ 120 ยูโร หรือประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อหน่วย ขณะที่เมืองไทย จะอยู่ที่ 25-30 บาทต่อหน่วย ก็จะเป็นกลไกเป็นส่วนช่วยเสริมขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าไปยุโรปในอนาคตได้ 

“การจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ครั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายและโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆได้ และเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่สังคม Net Zero หรือสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ความร่วมมือของ 11 องค์กรครั้งนี้นับเป็นการจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ครั้งแรกในประเทศไทย ที่มุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ เครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดย กฟผ. ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) อยู่ ภายใต้การซื้อขายของสมาชิกในเครือข่ายฯ ในการพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขายสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralized finance ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อ 28 มิ.ย.2564  ได้เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนรวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 298,140 ต้นหรือ 1,491 ไร่ ซึ่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตคือ บีซีพีจี และผู้ขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คือ กฟผ. และจะนำรายได้จากการจำหน่ายไปลงทุนด้านพลังงานสีเขียวเท่านั้น รวมถึงทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นการตอบแทนโลกต่อไป

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการกฟผ.  กล่าวว่า กฟผ.ได้พัฒนากลไกREC รวมทั้งการให้บริการรับรองRECที่กฟผ.ได้รับสิทธิจากThe International  REC Standard(I-REC) จากเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรองRECแต่เพียงผู้เดียวในไทย

“ที่ผ่านมา กฟผ.ตระหนักเรื่องการลดปล่อยคาร์บอน โดยดำเนินการปลูกป่ากว่า 4 แสนไร่ ส่งเสริมฉลาดเบอร์ 5 ลดการใช้พลังงาน และในอนาคตการลงทุนโรงไฟฟ้าของกฟผ.จะเป็นพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน ที่ตอบโจทย์ Net Zero”

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.  เชื่อว่า ในอนาคต Carbon Markets Club จะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ยกระดับการทำธุรกิจในตลาดทุน เพราะทั่วโลกตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม