CP ผนึกเครือข่ายลดโลกร้อน ร่วมแพลตฟอร์มซื้อขาย 'คาร์บอนเครดิต'
CP เดินหน้าเป้าหมายองค์กรแห่งความยั่งยืน ผนึกกำลัง 11 องค์กร ดันเครือข่าย Carbon Markets Club ครั้งแรกในไทย สร้างมาตรฐานการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต
28 มิถุนายน 2564 - บริษัทธุรกิจเอกชนชั้นนำ 11 องค์กร ผนึกกำลังร่วมก่อตั้ง Carbon Markets Club หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกในประเทศไทยในการร่วมมือสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอน เพื่อมุ่งสู่สังคม Net Zero โดยได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Carbon Markets Club ในรูปแบบออนไลน์
ทั้งนี้ การจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตนำร่องโดย 11 องค์กรพันธมิตร ซึ่งถือเป็นสมาชิกตั้งต้นหรือ Founding members ของเครือข่ายฯ โดยรวมองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญท้ังยังมีศักยภาพในการร่วมลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของอุตสาหกรรมให้ลดลง ซึ่งริเริ่มจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยพันธมิตร ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
นายนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยเครือซีพีได้ร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ร่วมกับพันธมิตรต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อผนึกกำลังทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจร่วมจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ที่ถือเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนของโลก
ขณะเดียวกันในภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environmental, Social, and Governance หรือ ESG ทำให้มีการผลักดันนโยบายที่จะลดหรือจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นมา ซึ่งเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ภาคธุรกิจเอกชนให้ความสนใจมากขึ้น นำมาสู่ความร่วมมือล่าสุดที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 11 องค์กรพันธมิตร ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อสร้างมาตรฐานการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย และนำพาประเทศให้ก้าวสู่สังคม Net Zero อย่างแท้จริง
ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนเครือซีพี กล่าวว่า เครือซีพีตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมกลุ่มธุรกิจหลักในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 โดยตั้งเป้าที่จะลดลงให้ได้ต่อหน่วยรายได้ 10% ภายในปี 2563 และได้เข้าร่วมโครงการ “Caring for Climate” ภายใต้ความร่วมมือของ UN Global Compact, UNEP และ UNFCCC ในปีเดียวกัน จากนั้นในปี 2562 ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2573
และได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” ในปี 2563 ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5oC และแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตลอดห่วงโซ่คุณค่าภายในปี พ.ศ. 2593 โดยจนถึงสิ้นปี 2563 เครือซีพี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ลงได้ 8.5% เมื่อเทียบกับปีฐาน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นจำนวน 45,665 ตัน CO2e มาชดเชยส่วนที่ขาดไป
"เครือซีพีมีนโยบายและเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปีพ.ศ.2573 เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อลูกหลานของพวกเราทุกคน ตลาดคาร์บอนเครดิต หรือการซื้อขายคาร์บอนเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในอนาคต โดยผู้ซื้อสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไป เพื่อระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญให้พวกเราบรรลุเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น" นายนพปฏล กล่าว
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกต้องร่วมกันพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดนับเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็ยังทำได้ไม่เร็วพอ
ในขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสีเขียวยังต้องมีมาตรการอุดหนุนจากรัฐบาลหรือนำภาษีจากประชาชนมาสนับสนุนอยู่ ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์นี้ โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นผู้ผลิตหรือมีรายได้จากอุตสาหกรรมหนักหรือใช้พลังงานฟอสซิล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อขายคาร์บอนหรือการจ่ายภาษีทางอ้อมเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนไปอุดหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายและโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ นี้ได้
สำหรับการรวมตัวของ 11 พันธมิตรสำคัญในการจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิต มีการนำร่องซื้อขายคาร์บอนเป็นปฐมฤกษ์รวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 298,140 ต้นหรือ 1,491 ไร่ โดยจะนำรายได้จากการจำหน่ายไปดำเนินกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (มหาชน) กล่าวว่า Carbon Markets Club จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่าย Carbon Neutral Thailand ซึ่งจะเป็นเครือข่ายสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคท้องถิ่นที่จะยกระดับความรับผิดชอบแบบสมัครใจในการขับเคลื่อนในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปองค์กร Net zero ภายในปี 2573 โดยจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานประเทศไทย (TVERs) ที่ทาง อบก.เป็นผู้ให้คำรับรองผ่าน Thailand Carbon Credit Exchange Platform เพื่อพัฒนาเป็นตลาดกลางที่โปร่งใสเชื่อถือได้ สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรม