โควิดรอบ 3 ฉุดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน.พ.ค.ลดต่อเนื่อง
พาณิชย์ เผยโควิดรอบ 3 คนไม่มั่นใจประกอบธุรกิจส่งผลยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพ.ค. 5,568 ราย ลดลง 7% ขณะที่เลิกกิจการมากขึ้น แต่ยังมั่นใจประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่ม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ การเปิดเมือง ส่งผลให้คนเชื่อมั่นกลับมาประกอบธุรกิจ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนพ.ค. 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 5,568 ราย ลดลง 7 % เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่มีจำนวน 5,972 รายโดยมูลค่าการมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 21,513.71 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่า 20,679 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4 % ส่วนภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.64 ) พบว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งหมด 34,929 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 27% ขณะที่การจดทะเบียนเลิกธุรกิจตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงพ.ค.2564 มีจำนวนทั้งหมด 3,882 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าลดลง 20%
โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 551 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 312 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 181 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 792 รายเพิ่มขึ้น 29 %เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่มีจำนวน 612 ราย หรือ 180 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 2,322.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 71 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 27 ราย คิดเป็น 3% ซึ่งประเภทของธุรกิจเลิกกิจการนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในเดือนพ.ค. อาจมีผลมาจาก การระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่กระจายเป็นวงกว้าง และมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค. 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 43 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 7% และใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ผู้ประกอบการ ยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และชะลอการตัดสินใจจัดตั้งนิติบุคคลออกไปก่อน เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจบัญชีและการตรวจสอบบัญชี และ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ที่มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อมจากจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนที่เพียงพอ และมาตรการที่รัดกุมในเดือนก.ค.เป็นต้นไป เช่น จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะเริ่มต้นในเดือนก.ค. 2564 รวมทั้ง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการ “สินเชื่อ ฟื้นฟู” มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี น่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น โดยกรมฯ ได้ปรับประมาณการเป้าหมายทั้งปีใหม่เป็น 67,000-69,000 ราย เพิ่มจากเดิม 64,000-65,000 ราย
สำหรับการการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนพ.ค. มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 37 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 17 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,218 ล้านบาทนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 372 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 18 ล้านบาท และจีน จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 770 ล้านบาท ตามลำดับ
ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 พ.ค. 64) จำนวน 799,881 ราย มูลค่าทุน 19.54 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 195,786 ราย คิดเป็น 24.48% บริษัทจำกัด จำนวน 602,801 ราย คิดเป็น 75.36% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,294 ราย คิดเป็น 0.16%