อีอีซี เดินหน้าฝึกอบรมสร้างทักษะบุคลากรเร่งด่วน ชะลอการว่างงานรับมือโควิด-19
อีอีซี สร้างกำลังคนตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายครบทุกมิติ เดินหน้าฝึกอบรมสร้างทักษะบุคลากรเร่งด่วน ชะลอการว่างงานรับมือโควิด-19 มั่นใจร่วมเอกชนชั้นนำ ยกระดับทักษะด้วยนวัตกรรมใหม่คู่กับการขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์ เพิ่มลงทุนพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานฯ EEC HDC รองศาสตร์จารย์ชิต เหล่าวัฒนา รองประธานคณะทำงานฯ นายทรงศัก สายเชื้อ ที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ.
พร้อมด้วยคณะทำงาน EEC HDC เข้าร่วมประชุมคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ครั้งที่ 2/2564 นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานฯ EEC HDC ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานพัฒนาทักษะบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามแนวทาง EEC Model ไตรมาส 2 ปี 2564 มีมิติการขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. มิติการฝึกอบรมระยะสั้น (EEC model Type B Short course) ที่ผ่านมาได้จัดอบรมแล้วกว่า 156 คน โดยเน้นพัฒนาทักษะที่เป็นจำเป็น และปฏิบัติจริง อาทิ โครงการยกระดับทักษะพัฒนาบุคลากรเร่งด่วนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานในภาคยานยนต์ พร้อมกันนี้ได้การเตรียมการฝึกอบรมไว้กว่า 3,852 คน คาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พร้อมดำเนินการฝึกอบรมได้ทันที
2. มิติหลักสูตร ดำเนินการอนุมัติหลักสูตรแล้ว 112 หลักสูตร จากเป้าหมาย 200 หลักสูตรครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งได้ขยายในการท่องเที่ยวชุมชน สำหรับกลุ่มรายได้ดี เพิ่มเติมอีก 7 หลักสูตร
3. มิติศูนย์เครือข่าย ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ 11 ศูนย์ เช่น ศูนย์เครือข่ายระบบราง เน้นความร่วมมือผ่านสถาบันการศึกษา อาทิ ม.บูรพา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ รฟท. เตรียมการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ศูนย์เครือข่ายอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่พัฒนาจาก EEC automation park ใน ม.บูรพา และร่วมกับ 10 บริษัทเอกชน เตรียมฝึกอบรมด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ทันที ที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
4. มิตินวัตกรรม เตรียมจัดตั้งโรงเรียนในสถานประกอบการ ตามแนวคิด Univertory ตั้งเป้าหมายในระยะ
5 ปี ผลิตบุคลากรปีละ 10,000 คน และยกระดับอุตสาหกรรม SMEs กว่า 3,000 แห่ง รวมทั้งโครงการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (Converted EV Industry : CEV) ร่วมกับสถานศึกษา 8 แห่ง และอู่รถยนต์ 80 แห่ง ตั้งเป้าหมายแปลงรถยนต์ไฟฟ้าได้ 5,000 คัน ภายในปี 2564
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความก้าวหน้าการพัฒนาบุคลากรร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อยกระดับทักษะบุคลากรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU ที่สำคัญ เช่น หลักสูตร 5G ICT และ Digital ภายใต้ Huawai ASEAN Academy ดำเนินการอบรมทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล 30,000 คนภายใน 3 ปี ความร่วมมือ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ผลักดัน EEC Automation Park เน้นการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ เป้าหมาย 8,000 โรงงานในอีอีซี นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากรอบความร่วมมือเพิ่มเติมกับบริษัทชั้นนำ เช่น เตรียม MOU ร่วมกับกลุ่มบริษัท Cisco - Mavenir – 5GCT – PlanetComm ขยายผลการใช้ 5G ในพื้นที่บ้านฉาง การจัดทำหลักสูตรแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับบริษัท Evlomo และหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับ Great Wall Motors เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม ฯ ยังได้พิจารณาสิทธิประโยชน์การลงทุนด้านการพัฒนาทักษะบุคลากร ตามที่คณะรัฐมนตรี (25 พ.ค.2564) ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. และได้ขยายเวลามาตรการภาษี 2 ปี (1 ม.ค. 64 – 31 ธ.ค. 65) โดยสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ ๆ อาทิ มาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง สามารถหักรายจ่ายค่าฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า มาตรการส่งเสริมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การบริจาคสินทรัพย์ให้ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร สามารถหักรายจ่ายการบริจาคฯ ได้ 3 เท่า