EEC: ไม่มีเวลาพัก เรื่องการพัฒนา “คน”
วันนี้ในขณะที่สถานการณ์โควิดยังวุ่น ๆ และไม่แน่นอนว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติเมื่อไรหรืออาจไม่เหมือนเดิมนั้น ทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ปวดเศียรเวียนเกล้าในเรื่องต่าง ๆ
ถ้ามีใครถามตอนนี้ ผมว่า สกพอ. คงบอกว่าไม่ลดเป้า แต่จะเลื่อนเวลาที่จะได้เป้าออกไป เพราะผมเห็นว่ากิจกรรมอื่น ๆ ยังไม่มีการลดเป้า แล้วบุคลากรลดเป้าก็แปลกละครับ
ที่ผ่านมา ยังมีโครงการสหกิจศึกษาของกรมอาชีวศึกษา ที่ให้สถานประกอบการร่วมงานกับทางวิทยาลัยอาชีวทั้งภาครัฐและเอกชนที่นำนักศึกษาจะเข้าไปฝึกงานในโรงงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิดปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานั้น โครงการเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งชะลอการผลิตลง หรือหลายแห่งก็หยุดกิจการไปบ้างช่วง ไม่ว่าจะจากสาเหตุของการขาดแคลนชิ้นส่วน วัตถุดิบหรือการชะลอตัวของคำสั่งซื้อ ผลผลกระทบดังกล่าวนี้ทำให้หลายสถานประกอบการต้องพักงานพักงาน หรือลดจำนวนแรงงานลง และโดยมากจะกระทบกับนักศึกษาในโครงการพัฒนาเหล่านี้
สกพอ. ก็ลงแรงไปมากและประสบความสำเร็จในการกล่อมให้ยักษ์ใหญ่หลายรายมาลงนามความร่วมมือกับ สกพอ. ในการพัฒนาแรงงานในด้านเทคโนโลยีที่ตนเองเก่ง อาทิ เทคโนโลยี 5G และดิจิทัลกับ Huawei Asian Academy รวมทั้ง Cisco-Mavenir-5GCT-PlanetComm ที่นำเทคโนโลยีไปพัฒนาและใช้ในพื้นที่มากจริง หรือเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า กับ Evlomo และ Great Wall Motors ฯลฯ
ในความเห็นของผมแล้ว สกพอ. ดำเนินการเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในหลายตัวอย่าง ๆ เห็นผู้รวมโครงการไม่ว่าจะเป็น Type A หรือ Type B มีให้เห็นจำนวนมาก แต่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ปัจจุบันสถานประกอบการก็พยายามตัดงบประมาณด้านนี้ลงพอสมควร โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กและกลาง นอกจากนี้ ปัญหาปวดหัวสำหรับโครงการนี้ก็คือ งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ สกพอ. ในแต่ละปีของโครงการนี้ก็มีจำกัดและไม่แน่นอน ซึ่งก็พอเข้าใจได้กับเหตุผลของทุกฝ่าย บางที สกพอ. อาจต้องมองดู option อื่น ๆ ไว้บ้าง เพราะคนจัดสรรงบมักจ้องตัดงบ แต่ไม่ตัดจำนวนเป้าหมาย
คิดว่า สกพอ. อาจต้องหาวิธีการใหม่ในการอบรมทั้งจำนวนและสาขาเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับรูปแบบปัจจุบันผมถือว่าดี เพราะทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ทั้งโรงงานและแรงงาน โรงงานได้ฝึกแรงงานตนเองเรียนรู้เทคโนโลยีในการทำงานให้โรงงาน แรงงานได้ความรู้และผลตอบแทน และในภาพรวมตลาดแรงงานก็มีมีแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น แต่ตอนนี้การอบรม พัฒนายังเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่ในประเทศ ผมว่าเราอาจต้องลงแรงในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีในประเทศ การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ก็จำเป็น ซึ่งคนที่พร้อมถ่ายทอดให้พอมีให้เห็น โดยเฉพาะบริษัทที่ผลิตและขายเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องการช่องทางโปรโมทของตนเองด้วย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันอื่น ๆ เช่น สถาบันไทย-เยอรมัน ก็มีความพร้อมในการเป็นเครื่องมือให้ สกพอ. ได้ดี
นอกจากนี้ ผมว่าในช่วงนี้อย่าชะลอการอบรมในโครงการนี้จนกว่าโควิดจะจางหรือกลับมาปกติพอที่จะเข้าไปทำงานและฝึกในโรงงานตามแบบปกติเหมือนที่ทำมานั้น ผมว่าคงยากและคงต้องรออีกนาน หรือดีไม่ดี อาจไม่ทันการณ์ เพราะเมื่อสถานการณ์วิกฤติโควิดจางลง การเดินทางสะดวกขึ้น เศรษฐกิจขยับตัวสูงขึ้น ผมเชื่อว่านักลงทุนจำนวนคงวิ่งเข้ามาหา EEC จำนวนมาก และเมื่อนั้นพวกเขาคงถามถึงความพร้อมของทักษะ ฝีมือแรงงานของเราเป็นคำถามแรก ๆ ผมว่าถ้าจะดีอย่าหยุดทำหรือเลื่อนเลยครับ ลองหาวิธีใหม่ ๆ ในการอบรม ดูงาน ที่เป็นไปตามเงื่อนไขทางสาธารณสุขดูนะครับ
ผมว่าสถานการณ์โควิดตอนนี้เป็นการ Give EEC a Break เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองทุกด้าน