หมดยุคภาษีต่ำ

หมดยุคภาษีต่ำ

หลังจากก่อนหน้านี้ ประเทศต่างๆ พยายามลด "ภาษีเงินได้" เพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศ แต่เมื่อทั้งโลกเจอวิกฤติโควิด ทุกประเทศต่างสาหัส รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม ยุคต่อไป ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มอัตราภาษี เพื่อความอยู่รอด

เป็นระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ประเทศต่างๆพยายามลดอัตราภาษีเงินได้ที่เก็บจากนิติบุคคล เพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติและบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศของตน เพื่อรัฐบาลจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้นมากมาย ไหนจะค่าชดเชยผู้ว่างงาน และผู้ได้รับผลกระทบจากการ "ล็อคดาวน์" ไหนจะค่ารักษาพยาบาล ไหนจะค่าวัคซีน ไหนจะค่าบริหารจัดการโรคระบาด ซึ่งทำให้การจัดการสิ่งต่างๆลำบากและยากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน รายได้ของรัฐซึ่งมาจากการเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งต่างก็ลดลง เพราะกิจการมีกำไรน้อยลง ผู้คนมีรายได้ลดลง หรือภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่ม หรือยาสูบ ซึ่งก็ลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ลดลงเพราะการบริโภคลดลง ภาษีเงินปันผลก็ลดลงเพราะบริษัทไม่ค่อยมีเงินจ่ายปันผล ฯลฯ เรียกว่า รัฐบาลของทุกประเทศต่างก็สาหัส เพราะรายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม กันโดยถ้วนหน้า 

ที่ประชุมผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 7 ประเทศ หรือ G7 เมื่อสุดสัปดาห์ต้นเดือนมิถุนายน จึงมีข้อตกลงร่วมกันในหลักการเบื้องต้นว่า จะนำอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ มาใช้บังคับในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และจะไปเกลี้ยกล่อมประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ให้เห็นชอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น G20 หรือ OECD

ตลอดระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศต่างๆ พยายามแข่งกันลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติ มาตั้งสำนักงานในประเทศของตน เพื่อให้ประเทศของตนมีรายได้จากภาษีเงินได้ของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งประเทศที่ลดและได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษี เพราะมีบริษัทย้ายไปจดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่มีอัตราภาษี 12.5% สวิสเซอร์แลนด์ อัตรา 14.93% และสิงคโปร์ 17% และหากต้องการเพียงอาศัยจดทะเบียน ไม่ต้องดำเนินการผลิตหรือให้บริการ เช่น ธุรกิจการเงิน ก็จะมีประเทศที่ปลอดภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่เราเรียกว่า “ดินแดนภาษีต่ำ” หรือ Tax Haven เช่น หมู่เกาะเคย์แมน เกิร์นซี่ เบอร์มิวด้า บาฮามาส์ และบาห์เรน ให้เลือก 

หากดูย้อนหลังไปสิบปี ข้อมูลจาก KPMG แสดงว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉลี่ยของโลก ในปี 2011 เท่ากับ 24.52% ลดลงมาเป็น 23.65% ในปี 2021 โดยกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือลดค่อนข้างมากคือ จากเฉลี่ย 34% ในปี 2011 ลดเหลือ 26.75% ในปี 2021 ฝรั่งเศส ลดจาก 33.33% เหลือ 26.5% สวิสเซอร์แลนด์จาก 18.3% เหลือ 14.93% ไทยเราก็ลดจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2012 และเหลือ 20% ตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา 

รัฐบาลของประเทศที่มีบริษัททำธุรกิจข้ามชาติ ได้พยายามผลักดันให้มีการพูดคุยเพื่อกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ ลดแรงจูงใจในการย้ายหรือไปตั้งบริษัทลูกในต่างประเทศของธุรกิจใหญ่ๆกันมาหลายปี แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ มาคราวนี้ ถูกโควิด 19 ดิสรัปทีเดียว งบประมาณพุ่งกระฉูด รายได้ลด หนี้สาธารณะเพิ่ม ทุกรัฐบาลเจอปัญหาเดียวกันหมด การพูดคุยเพื่อตกลงในหลักการให้มีอัตราขั้นต่ำ จึงเป็นไปอย่างราบรื่น 

ในหลักการที่ประเทศกลุ่ม จี 7 ตกลงกันคือ จะมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำขึ้นมาหนึ่งอัตราที่จะเรียกเก็บจากบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศเหล่านั้น รัฐบาลของประเทศอื่นๆก็ยังสามารถตั้งอัตราภาษีได้ตามที่ต้องการ และธุรกิจก็ยังสามารถไปมีสำนักงาน หรือบริษัทลูกอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่อยากไปได้ แต่หากภาษีเงินได้ที่กิจการที่อยู่ในต่างประเทศเสียอยู่นั้น ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ตั้งไว้ รัฐของประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ ก็สามารถเรียกเก็บภาษีส่วนเพิ่มให้ถึงขั้นต่ำได้ 

ดิฉันขอยกตัวอย่าง หากตั้งอัตราภาษีขั้นต่ำไว้ 15% กูเกิลมีสำนักงานอยู่ในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เสียภาษีในอัตรา 12.5% สหรัฐซึ่งเป็นรัฐบาลของบริษัทแม่ หรือ Home Government มีอัตราภาษี 21% สามารถเรียกเก็บภาษีกูเกิลเพิ่ม (Top-Up) จากกำไรส่วนที่มาจากผลประกอบการในไอร์แลนด์ อีกอย่างน้อย 2.5% 

ในที่ประชุมให้ความสนใจอัตราขั้นต่ำที่ 15% ขึ้นไป เป็นพิเศษค่ะ หลายๆประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะผลักดันเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% จริงๆแล้วอาจอยากเห็นอัตราขั้นต่ำสูงกว่านี้ เช่น เป็น 17% หรือ 19% แต่เมื่อเป็นขั้นต่ำ จะตั้งสูงเกินไปมากก็คงไม่ได้ค่ะ 

ทั้งนี้สิ่งที่ยังไม่ได้ตกลงกันแน่ชัดคือ อัตราขั้นต่ำที่จะกำหนดจะเป็นเท่าใด และยังไม่แน่ชัดว่าจะรวมกองทุนที่บริหารเงินลงทุน เช่นกองทุนรวม และจะรวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ทั้งยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะเริ่มเมื่อใด แต่ที่แน่ๆคือตกลงว่าจะมีกำหนดขั้นต่ำแล้ว 

เยอรมนีเป็นประเทศที่แม้จะมีธุรกิจจะย้ายออกไปมีบริษัทลูกนอกประเทศ ได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ยืนหยัดคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 30%(ปัจจุบัน 29.37%) แสดงความพอใจผ่านคำพูดของ รัฐมนตรีคลัง โอลาฟ โชลซ์ ว่า “บริษัทต่างๆจะได้ไม่บันทึกกำไรในประเทศที่อัตราภาษีต่ำ  ทั้งนี้ รายได้ที่สม่ำเสมอ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้รัฐสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเร่งด่วน ในช่วงเวลาของโรคระบาดโคโรนาไวรัสนี้” 

สำหรับ รมต.คลังของฝรั่งเศส  Bruno Le Maire กล่าวว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้น ในช่วงต่อไปเราจะต่อสู้เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราขั้นต่ำอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ของฟรีไม่มีในโลกค่ะ ต้องมีคนจ่าย และขึ้นอยู่กับว่าคนจ่ายจะเป็นใครเท่านั้น สวัสดิการต่างๆ เงินชดเชยต่างๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ดูแลประชาชนและเยียวยาภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้น ต้องมาจากภาษีประการเดียวค่ะ  ดังนั้น จึงหมดยุคภาษีต่ำ และประเทศต่างๆแข่งกันลดภาษีแล้วค่ะ ยุคต่อไป ประเทศต่างๆต้องเพิ่มอัตราภาษี เพื่อความอยู่รอดค่ะ