กนศ.ชี้ 4 ปม ไทยเสียเปรียบร่วม 'ซีพีทีพีพี'
พาณิชย์ เผยผลศึกษา “กนศ.” กรณีไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ชี้มี 4 ประเด็นอ่อนไหว เสียเปรียบ แนะต้องปรับตัวอย่างรุนแรง คาดอีก 2-3 สัปดาห์ รู้ผลจะได้เข้าสมาชิกหรือไม่
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เป็นประธานได้เสนอผลการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ข้อห่วงใย และการปรับตัวของไทยกรณีที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความ ตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) ที่ศึกษาเพิ่มเติมจากข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาของครม. คาดว่า น่าจะบรรจุเป็นวาระได้ในอีก 2-3 สัปดาห์
“การเสนอครม. เพื่อให้พิจารณาว่า ไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ ครม.อาจเห็นชอบ หรือไม่ก็ได้ ถ้า เห็นชอบ ไทยก็จะส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกไปยังซีพีทีพีพี และสมาชิกก็ต้องพิจารณากันว่า จะให้ไทยเข้าร่วมหรือไม่ ถ้าอนุมัติ ไทยก็จะตั้งคณะเจรจา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมด้วย และยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่ว่า ครม.อนุมัติแล้ว จะเป็นสมาชิกได้ทันที และยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นเรื่องนี้ ทำทุกอย่างอย่างมีขั้นตอน และเปิดเผย”
สำหรับผลการศึกษาของกนศ. พบว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน เป็นต้น ถ้าไม่เข้าร่วม ไทยอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และเสียศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่เข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ก็มีข้อเสียใน 4 ประเด็นอ่อนไหว เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ เป็นต้น ที่ไทยต้องปรับตัวอย่างรุนแรง ให้พร้อมรับการแข่งขัน
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองว่า การปรับตัวของไทยอาจทำได้ยาก และใช้เวลานาน และตนก็มองว่า ถ้าไทยไม่พร้อมก็ยังไม่ควรเข้าเป็นสมาชิก นอกจากนี้ กนศ.ยังได้ศึกษาเบื้องต้นในประเด็นที่สหราชอาณาจักร จะเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว ซึ่งพบว่า จะมีทั้งข้อดี และข้อเสียกับไทย