กกพ.แย้มเตรียมวางมาตรการช่วยส่วนลดค่าไฟ รับมือโควิด ระลอก4
กกพ.เตรียมวางแนวทางมาตรการช่วยส่วนลดค่าไฟ อุ้มประชาชนต่อ หลังมาตรการเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 เผยหากดูแลอีก 2 เดือน คาดว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอีกราว 8 พันล้านบาท ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน อาจส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าลดลง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค. 64 โดยกำหนดให้ลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเดิมที่เคยดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 ให้มีผลรอบบิลเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 โดยใช้เดือน เม.ย. 64 เป็นเดือนฐานในการคิดคำนวณลดค่าไฟฟ้า ซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.64 นั้น
ทาง กกพ.ได้รับนโยบายจากภาครัฐให้หาแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าต่อ ซึ่งเบื้องต้น กกพ.ได้จัดทำสมมติฐาน กรณีช่วยค่าไฟฟ้าทั้งประเทศ และกรณีช่วยค่าไฟฟ้าในบางพื้นที่ โดยจะต้องรอภาครัฐพิจารณานโยบายออกมาให้ชัดเจนก่อน แต่ในส่วนของ กกพ.ไม่มีเม็ดเงินที่จะนำมาดูแลค่าไฟฟ้าในส่วนนี้ ซึ่งจะต้องเป็นการจัดหาเงินงบประมาณแผ่นดินเข้ามาดูแล และหากดูแลตามมาตรการรับมือ โควิด-19 ในครั้งที่ 3 ที่ดูแลค่าไฟฟ้าช่วง 2 เดือน ก็คาดว่าจะวงเงินใกล้เคียงกันอยู่ที่ประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท
“มาตรการช่วยส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะให้มีผลในทางปฏิบัติเดือนไหน หากเป็นจะเริ่มเดือนก.ค.นี้ ทางกกพ.ก็ดำเนินการได้ทัน แต่ประชาชนอาจเสียเปรียบเพราะตัวเลขจดมิเตอร์จะเหลื่อมมากลางเดือนแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าไปแล้ว รวม 3 ครั้ง โดยรอบแรกนั้นภาครัฐ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการเงินช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2563 ไปแล้วประมาณ 26,612 ล้านบาท โดยเป็นเงิน Claw Back หรือ “เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผน” มาจ่ายทั้งหมด
ส่วนการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 รัฐใช้แนวทางบริหารค่าไฟฟ้าเป็นเงินอีกประมาณ 8,202 ล้านบาท และการระบาดระลอกที่ 3 รัฐใช้แนวทางบริหารค่าไฟฟ้าเป็นเงินอีกประมาณ 8,700 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบประมาณของรัฐบาลเอง
นายคมกฤช ยังกล่าวถึงกรณีมาตรการล็อกดาวน์ พื้นที่สีแดง ห้ามเดินทาง 14 วัน เพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่4 ว่า มาตรการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่คงไม่มากเท่ากับช่วยเดือนมิ.ย.ปี 2563 ที่การใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงไปต่ำสุด