'จุรินทร์' สั่งเซลล์แมนจังหวัดรับมือสับปะรดกระจุกตัวไตรมาส 4
ไจุรินทร์" เตรียมแผนรับมือผลผลิตสับปะรด กระจุกตัว ช่วงไตรมาส4 สั่งการ เซลล์แมนจังหวัด บริหารจัดการDemandและSupplyคาดปีนี้ผลผลิตรวม 1.8 ล้านตัน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ โดยมีนายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ปี 2564คาดว่าจะมีผลผลิตสับปะรดประมาณ 1.8 ล้านตันโดยแบ่งเป็นผลผลิตในช่วงครึ่งปีแรก(ม.ค.- มิ.ย.) มีประมาณ9.87 แสนตัน ซึ่งจะออกมากช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 5.5 แสนตัน และผลผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง(ก.ค.- ธ.ค. ) ประมาณ 8.13 แสนตัน ซึ่งจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนต.ค.- ธ.ค. 5.57 แสนตัน
ผลผลิตที่กระจุกตัวในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญโดยให้บริหารจัดการผลผลิตสับปะรดช่วงเดือนก.ค.– ธ.ค. โดยใช้กลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด หรือเซลล์แมนจังหวัดในแหล่งผลิตสับปะรด เร่งแก้ปัญหาผลผลิตโดยกำหนดเป็นมาตรการเชิงรุก ดำเนินการตามแนวทาง มาตรการให้เห็นผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก.กล่าวว่า มาตรการที่จะดำเนินการนั้น ประกอบด้วย การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าโดยจับคู่ธุรกิจ ให้สถาบันเกษตรกร ทำสัญญาข้อตกลงกับโรงงานแปรรูปการกระจายผลผลิตภายในจังหวัดและออกนอกแหล่งผลิต โดยเชื่อมโยงตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ช่องทาง Online และ Offline
รวมทั้งจัดหาจุดจำหน่ายสับปะรดการส่งเสริมการบริโภคโดยจัดงานประจำจังหวัด งานแสดงสินค้า ตลาดประชารัฐ ร้านธงฟ้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดในหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภคการส่งเสริมการแปรรูป
โดยขอความร่วมมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน รับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูปและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้ผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคสดเพิ่มขึ้นโดยส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดแหล่งผลิตและจังหวัดที่อยู่ห่างไกลโรงงานแปรรูปปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้ผลิตสับปะรดบริโภคสดเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 - 2565 ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิตการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป และการเพิ่มศักยภาพการตลาดและการส่งออก โดยนำหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy:BCG)มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพิ่มมูลค่าผลสับปะรดและสิ่งเหลือใช้
รวมทั้งให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนให้เป็นรูปธรรมและสามารถชี้วัดได้ชัดเจน เกิดผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบต่อไป