'4รายใหญ่' กระเป๋าตุง โกยกำไรครึ่งแรก 'ชนะตลาด'
เปิดพอร์ต '4รายใหญ่' ครึ่งปีแรก 2564 'ยิ้มหน้าบาน' หลังโกยกำไร 'ชนะตลาด' บ่งชี้ผ่านดัชนี 'ต้นปี-กลางปี' สร้างรีเทิร์นบวกปิด 9.80% พร้อมแนะกลยุทธ์ธีมลงทุนครึ่งหลังเลือกหุ้นขนาดใหญ่-สภาพคล่องสูง-ปลอดภัย !
ตลาดหุ้นไทยปีฉลู (วัว) 2564 ต้นปีกับกลางปีดัชนี 'แตกต่างกัน' โดย SET INDEX ครึ่งปีแรก 2564 สร้าง'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) ให้กับนักลงทุนอยู่ที่ 9.80% (30 มิ.ย.) เท่ากับว่าเล่นหุ้นครึ่งปีแรกผลเป็น 'บวก' สะท้อนผ่านดัชนีปรับตัวขึ้นมาทำ 'จุดสูงสุด' (New High) ของครึ่งปีแรก 2564 ระดับ 1,636.56 จุด (วันที่ 11 มิ.ย.2564) และ 'จุดต่ำสุด' (New Low) ระดับ 1,468.24 จุด (วันที่ 4 ม.ค. 2564) และเมื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' สอบถามนักลงทุนรายใหญ่ระดับแนวหน้า ต่างพากัน 'โกยกำไร' เข้ากระเป๋าไม่น้อย !!
'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' นักลงทุนรายใหญ่ แบบเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนลงทุนในครึ่งปีแรก 2564 'เท่าตลาด' หรือ 9.80% เนื่องจากครึ่งปีแรกในพอร์ตลงทุนเน้นถือหุ้น 'ขนาดใหญ่' (Big Cap) ซึ่งเป็นหุ้นที่ครึ่งปีแรกราคาหุ้นขยับไม่ค่อยมาก แต่มองว่าเป็นหุ้นปลอดภัยสภาพคล่องในการลงทุนสูง
สำหรับ 'กลยุทธ์' การลงทุนครึ่งปีหลัง 'ดร.นิเวศน์' บอกว่า ยังมองหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ (Big Cap) เนื่องจากมีความทดทานต่อวิกฤติต่างๆ แม้ผลการดำเนินงานไม่ได้ดีมาก แต่ก็ถือว่าไม่แย่มาก และมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่ยิ่งเฉพาะใน SET 50 ราคาหุ้นไม่ค่อยปรับตัวขึ้นมากเหมือนหุ้นขนาดกลาง และยังมีระดับ P/E ต่ำอีกด้วย เช่น กลุ่มธนาคาร (แบงก์) ที่มีผลประกอบการยังเติบโต
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ 'ดร.นิเวศน์' พบว่า ในครึ่งปีแรก 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.78% บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.60% บมจ. มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) หรือ METCO จำนวน 120,000 หุ้น คิดเป็น 0.57% บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH จำนวน 250,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.33% และ บมจ. บริษัท ทุนธนชาต หรือ TCAP จำนวน 14,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.20%
'เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์' นักลงทุนรายใหญ่ เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนในการลงทุนครึ่งปีแรก พอร์ตลงทุนเป็นบวก โดยผลตอบแทน 'ชนะตลาดหุ้น' เนื่องจากในพอร์ตลงทุนมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้พอร์ตมีผลตอบแทนบวกค่อนข้างมาก แต่ผลตอบแทนหุ้นที่ได้ผลกระทบจาการระบาดของโควิด-19 ก็ปรับตัวลงบ้าง แต่มองว่าเมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น เชื่อว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับมา
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ 'เสี่ยยักษ์' พบว่า ในครึ่งปีแรก 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM จำนวน 349,802,957 หุ้น คิดเป็น 2.29% บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง หรือ DMT จำนวน 33,906,691 หุ้น คิดเป็น 2.87% บมจ. ดีเฮ้าส์พัฒนา หรือ DHOUSE จำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.60% บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC จำนวน 32,477,400 หุ้น คิดเป็น 1.45%
บมจ. เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE จำนวน 284,965,300 คิดเป็น 1.98% บมจ. โปรเอ็น คอร์ป หรือ PROEN จำนวน 10,758,500 หุ้น คิดเป็น 3.40% บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC จำนวน 12,214,000 หุ้น คิดเป็น 3.58% บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT จำนวน 17,611,700 หุ้น คิดเป็น 0.62%
เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์
'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ เล่าให้ฟังว่า สำหรับผลตอบแทนการลงทุนในครึ่งปีแรกเป็น 'บวกประมาณ 10%' โดยพอร์ตลงทุนมีการกระจายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันพอร์ตลงทุนในหุ้นไทยมีหุ้นประมาณ 20 ตัว คิดเป็น 70% และอีก 30% ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
โดยเฉพาะในตลาดหุ้น จีน , ฮ่องกง , เวียดนาม ซึ่งปรับพอร์ตลงทุนตั้งแต่ 1-2 เดือนก่อน เนื่องจากตลาดหุ้นต่างประเทศราคาถูกกว่าหุ้นไทย และสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าหุ้นไทยมาก ยิ่งเฉพาะในตลาดหุ้นประเทศเวียดนามที่สร้างผลตอบแทนมากว่าตลาดหุ้นไทย 15-20% ซึ่งปัจจุบันในพอร์ตมีหุ้นเวียดนามประมาณ 10 ตัว หลักๆ เป็นหุ้นในธุรกิจแพคเกจจิ้ง , ธุรกิจผลิตน้ำประปา , ธนาคาร (แบงก์)
สำหรับหุ้นกลุ่มที่ 'น่าลงทุน' ปีหลัง 2564 คงต้องยกให้ 'กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง' เนื่องจากภาครัฐยังมีการประมูลโครงการขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนต้องไปศึกษาในรายละเอียดของหุ้นรับเหมา-ก่อสร้างเป็นรายตัวว่าหุ้นตัวไหนที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว 'กลุ่มธนาคาร' (แบงก์) แนวโน้มปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่โดดเด่น เนื่องจากต้องรอให้ตัวเลข 'หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้' (NPL) ปรับตัวดีขึ้นก่อน และ 'กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี' คาดธุรกิจกำลังฟื้นตัว ตาม 'ความต้องการ' (ดีมานด์) ของทั่วโลก หลังภาวะเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวแล้ว และราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นมา
ขณะที่หุ้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังลงทุน 'กลุ่มเดินเรือ' เนื่องจากปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว 'กลุ่มโลจิสติกส์' ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงแล้ว และ 'กลุ่มถุงมือยาง' มองว่าอุตสาหกรรมน่าจะมีผู้เล่นเข้ามาอีกมาก ดังนั้น ช่องว่างของการทำกำไรอาจจะไม่สูงเหมือนเดิมแล้ว
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ 'โจ-อนุรักษ์' พบว่า ในครึ่งปีแรก 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนหลากหลายตัว เช่น บมจ. เอเชีย ไบโอแมส หรือ ABM จำนวน 5,240,000 หุ้น คิดเป็น 1.75% บมจ. จรัญประกันภัย หรือ CHARAN จำนวน 140,600 หุ้น คิดเป็น 1.17% บมจ. เดนทัล คอร์ปอเรชั่น หรือ D จำนวน 1,763,500 หุ้น คิดเป็น 0.73% บมจ. ฟิลเตอร์ วิชั่น หรือ FVC จำนวน 3,276,000 หุ้น คิดเป็น 0.58% บมจ. โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ หรือ GSC จำนวน 6,268,000 หุ้น คิดเป็น 2.51%
บมจ. เมกาเคม (ประเทศไทย) หรือ MGT จำนวน 3,233,000 หุ้น คิดเป็น 0.81% บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER จำนวน 8,589,000 หุ้น คิดเป็น 0.56% บมจ. เอส 11 กรุ๊ป หรือ S11 จำนวน 3,724,000 หุ้น คิดเป็น 0.61% บมจ.สยามอีสต์ โซลูชั่น หรือ SE จำนวน 1,214,800 หุ้น คิดเป็น 0.51% บมจ. สหกลอิควิปเมนท์ หรือ SQ จำนวน 9,192,000 หุ้น คิดเป็น 0.81% บมจ. เอสวีโอเอ หรือ SVOA จำนวน 6,655,500 หุ้น คิดเป็น 0.94%
บมจ. ที.ซี.เจ.เอเซีย หรือ TCJ จำนวน 1,783,600 หุ้น คิดเป็น 1.69% บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TCMC จำนวน 14,400,000 หุ้น คิดเป็น 1.83% บมจ. ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG จำนวน 5,730,000 หุ้น คิดเป็น 0.84% บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH จำนวน 4,260,700 หุ้น คิดเป็น 1.06% บมจ. ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY จำนวน 20,650,000 หุ้น คิดเป็น 3.61% และ บมจ. เธียรสุรัตน์ หรือ TSR จำนวน 3,343,000 หุ้น คิดเป็น 0.61%
'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' นักลงทุนเจ้าของพอร์ตระดับ 'พันล้านบาท' ที่มีสไตล์ลงทุนแบบTechnical เล่าให้ฟังว่า สำหรับพอร์ตลงทุน ในตลาดหุ้นครึ่งปีแรกเป็น 'บวกประมาณ 10%'
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน 'เสี่ยป๋อง' ยังลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่มีสภาพคล่องในระดับสูง โดยการลงทุนจะเป็นลักษณะการกระจายลงทุนในหุ้นหลากหลายตัว โดยมีทั้งกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี , กลุ่มธนาคาร (แบงก์) , กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ แต่ปัจจุบันการลงทุนก็มีปรับลดพอร์ตลงทุนลงบ้าง
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ 'เสี่ยป๋อง' พบว่า ในครึ่งปีแรก 2564 มีหุ้นในพอร์ตลงทุนที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียง 1 ตัว คือ บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ หรือ STPI จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.62%
เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง
ตลท.แนะครึ่งหลังจับตา 'เฟด-กำไรบจ.'
'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังนี้ แนะนำนักลงทุนให้จับตาใน '2ปัจจัยหลัก' โดยปัจจัยจากต่างประเทศ ได้แก่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับอัตราดอกเบี้ย จะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยในประเทศ เป็นทิศทางการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) คาดส่งผลต่อทิศทางกระแสเงินทุน (ฟันด์โฟลว์)
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่อง เชื่อว่าหลายบริษัทมีการปรับตัว จึงแนะนำให้โฟกัสที่บจ.ที่มีการปรับตัวและมีแผนรองรับกับสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว ประกอบกับหลายบริษัทราว 40% มีการส่งออกหรือมีการทำกิจกรรมทางธุรกิจกับทางต่างประเทศ ซึ่งหากเชื่อมโยงไปกับต่างประเทศได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทนั้นๆ
ส่วนการเข้ามาระดมทุนของบริษัทใหม่ (IPO) ปกติในครึ่งปีหลังจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งตลาด SET และ mai เฉลี่ย 40-50 บริษัทและมีความหลากหลายของแต่ละธุรกิจ จึงคาดว่าในปีนี้จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2563 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ (IPO) อยู่ที่ราว 555,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกทำได้แล้วที่ 341,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนที่เหลือคาดว่าจะทยอยเข้ามาในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่คาดว่าจะเห็นการเข้ามาจดทะเบียนมากที่สุด
'ศรพล ตุลยะเสถียร' รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ลดลง 0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 9.6% เทียบกับสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์บางกลุ่มที่สูงกว่าผลการดำเนินงานในอดีตค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลพื้นฐานเป็นรายหลักทรัพย์และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
เนื่องจากมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตัวเลขการส่งออกของไทยเติบโต โดยในเดือนพฤษภาคม 64 มูลค่าการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นถึง 41.59% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ค่อนข้างล่าช้าทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยว กับการกลับมาเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในช่วงต้นปี
นอกจากนี้ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2564 จำนวน 78 บริษัท ส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปีในการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับ 'ปัจจัยเสี่ยง' 3 อันดับแรกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 มองว่า 1.การแพร่ระบาดของ โควิด-19 คิดเป็นสัดส่วน 86% 2.การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยกดดันเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 30% และ3.กำลังซื้อในประเทศมีความน่ากังวลราว 26%
ขณะที่มองว่าปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือ 1.นโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ 64% 2.กำลังซื้อในประเทศ 34% และ3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สหรัฐ,จีน,ยุโรป และอาเซียนราว 30%