ลุ้น ครม.จ่าย 'เงินเยียวยา' พื้นที่ 'ล็อกดาวน์' 10 จังหวัด 'เสริมสวย นวด สปา' ได้แน่
ครม.เตรียมเคาะใช้เงินกู้ จ่าย "เงินเยียวยา" กลุ่มอาชีพกระทบ "ล็อกดาวน์" 10 จังหวัด 'ร้านเสริมสวย นวด สปา' ได้แน่ พร้อมเพิ่มเงินพิเศษทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ส่วนนอกระบบจ่ายเงินพร้อมจูงใจเข้าประกันสังคม
คำสั่งการล็อคดาวน์พื้นที่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด เริ่มมีผลวันที่ 12 ก.ค.2564 ซึ่งทำให้มีการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา อย่างน้อย 14 วัน
การยกระดับควบคุมการระบาดดังกล่าวนำมาสู่การกำหนดมาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ โดยวันที่ 12 ก.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงแรงงาน เพื่อเตรียมมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 13 ก.ค.2564
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการในการช่วยเหลือทั้งหมดจะเข้าสู่การประชุมของ ครม.และจะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนทราบภายหลังการประชุม ครม.
แหล่งข่าวข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอให้กับ ครม.พิจารณาเป็นลักษณะเดียวกับมาตรการที่ ครม.มีการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ฉบับที่ 25 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจและแรงงานก่อสร้าง ร้านอาหารและศิลปะ บันเทิง สันทนาการ
ในขณะที่การประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้สั่งให้ปิดกิจการเพิ่ม ได้แก่ สถานเสริมความงาม ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจดังกล่าวได้รับการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะเดียวกับ โดยได้มีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้พิจารณากำหนดการเยียวยาในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม กลุ่มลูกจ้างจะได้รับเงิน 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท แรงงานสัญชาติไทยได้รับเงินพิเศษอีก 2,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คน
ส่วนกิจการที่อยู่นอกระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือโดยต้องยื่นลงทะเบียนกับระบบประกันสังคมภายใน 1 เดือน โดยลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท และนายจ้างได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คนเช่นกันโดยมาตรการนี้เป็นการจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบลงทะเบียนที่เดิมเคยให้มีการใช้งานการลงทะเบียนผ่านระบบแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์จะมีการปรับปรุงให้ลงทะเบียนในช่องทางอื่นแทนเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลและอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่ง สศช.จะมีการรายงาน ครม.ในการประชุมครั้งนี้ด้วย