3 เดือนชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย 'กอบศักดิ์' ชง 3 แผนรับมือวิกฤติโควิด
“กอบศักดิ์” มองเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจไม่ขยายตัว เหตุการระบาดในประเทศยืดเยื้อ กระทบภาคท่องเที่ยวทรุดยาว หนุนมาตรการล็อกดาวน์ ช่วยรัฐบาลซื้อเวลา แนะ 3 แผนวัคซีน เน้นฉีดบุคลากรทางกาแพทย์เข็ม 3 นำเข้าวัคซีนทางเลือกใช้โมเดลไต้หวันรัฐ -เอกชนจับมือหาวัคซีน
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท โดยการแพร่ระบาดทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายด้านและส่งผลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นการงดการเดินทาง การลดการท่องเที่ยวของประชาชนรวมถึงการจับจ่ายซื้อสินค้าคงทนลดลง เช่นรถยนต์
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพเคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1-2% เพิ่มจากปีก่อนที่ติดลบ 6.1% ต้องปรับประมาณการลงมา โดยมองว่ากรณีแย่สุดเศรษฐกิจปี 2564 อาจไม่ขยายตัวเลย
“ก่อนหน้านี้เรามองว่าการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีการระบาดในโรงงาน ซึ่งกระทบภาคส่งออกและกระทบเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ไม่มากนักมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีสมมติฐานว่าอาจขยายตัวแค่ 1–2% แต่เมื่อการระบาดเพิ่มขึ้นและยืดเยื้อตอนนี้จะหวังให้เติบโตสัก 1% ก็ยาก เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจปีนี้จะไม่ขยายตัวเลย”
นอกจากนี้อีกส่วนที่เป็นปัญหาและยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ไทยพึ่งพามาก และเมื่อเทียบหลายประเทศในภูมิภาคที่เศรษฐกิจฟื้นตัว 4 -5% เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไม่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเหมือนไทย ขณะที่ไทยพึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 15% ของจีดีพี แบ่งเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศ 10% และการท่องเที่ยวในประเทศ 5% และจ้างงานถึง 10 ล้านคน การที่ภาคการท่องเที่ยวปิดเกือบหมดหมายความว่าคนเกือบ 10 ล้านคน ตกงานไม่มีรายได้และกระทบการใช้จ่ายของประชาชนมาก
ดังนั้นสิ่งที่ตามมาจากการระบาดระลอก 3–4 คือ ผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดได้ไตรมาส 4 ตามแผนเปิดประเทศใน 120 วัน ที่เริ่มจาก “ภูเก็ต แซนต์บ็อกซ์” ที่นำร่องไปแล้ว
ในขณะที่การระบาดเพิ่มมากทำให้แผนเปิดประเทศเป็นไปได้ยาก เพราะนักท่องเที่ยวไม่มาไทยและมองการคุมการระบาดไม่อยู่ รวมทั้งการมาไทยและเมื่อเดินทางกลับต้องกักตัว 10–14 วัน ทำให้การท่องเที่ยวยากที่จะเปิดได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยในขณะนี้น่าเป็นห่วง เพราะต้องรับมือกับโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ระบาดรวดเร็ว คือ “สายพันธุ์เดลต้า” ซึ่งตัวอย่างที่มีการระบาดในหลายประเทศ เช่น อินเดีย และล่าสุดในอินโดนิเซียมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่ม 10 เท่า ภายใน 5 สัปดาห์ จนมีผู้ป่วยรายใหม่หลายหมื่นคนต่อวัน
ทั้งนี้ เมื่อสายพันธุ์ชนิดนี้ของโควิด-19 เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในไทยทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเสี่ยงรับไม่ไหว โดยเห็นสัญญาณเริ่มขาดแคลนถังออกซิเจน เริ่มให้ผู้ป่วยนอนนอกอาคารโรงพยาบาล บุคลากรการแพทย์เริ่มติดเชื้อ รวมทั้งต้องนำนักศึกษาแพทย์มาช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด ส่วนเมรุที่เผาศพก็เผาศพต่อเนื่องกันจนจะพัง
ดังนั้นการประกาศล็อคดาวน์เพื่อต่อสู้กับโควิดถือว่าจำเป็นและเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแม้จะเล็กน้อยก็ทำให้รัฐบาลมีเวลาจัดการปัญหามากขึ้น และเมื่อลดการแพร่เชื้อและมีผู้ป่วยลดลงยังมี 3 เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการให้ไทยรับมือโควิด-19 ระลอกต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 3 เดือน ที่จะเตรียมตัว เพื่อให้ไทยเปลี่ยนจากสถานะประเทศที่รับมือโควิด-19 ไม่ได้ เป็นประเทศที่รับมือกับการระบาดได้อีกครั้ง คือ
1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ให้พร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งนี้แนวทางที่จะจัดสรรวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่เราได้รับเข้ามาจากต่างประเทศให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของเราก่อนมีความจำเป็นเพื่อให้คนกลุ่มนี้มีความปลอดภัยในการทำงานได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
2.เร่งรัดการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน โดยในเรื่องนี้รัฐบาลและเอกชนควรร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกหลายยี่ห้อเข้ามาและทำได้หลายรูปแบบ เช่น เอกชนอาจเป็นคนที่ติดต่อและหากมีความจำเป็นจริงรัฐบาลก็ค้ำประกัน ซึ่งกรณี “ไต้หวัน โมเดล” ที่เอกชนช่วยรัฐบาลจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ให้รัฐบาล 10 ล้านโดส เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”นว่าการดีลวัคซีนทางเลือกนั้นมีแนวทางที่ทำได้ และไทยควรดำเนินการเรื่องนี้เร่งด่วน
อีกโมเดล คือ ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม มาแล้วให้เอกชนมาซื้อต่อเพื่อไปฉีดให้พนักงานในบริษัท ถือเป็นรูปแบบที่ดีมากควรสนับสนุนให้ทำเพิ่มขึ้น เพื่อให้เอกชนช่วยดูแลพนักงานของตัวเองถือว่าเป็นการช่วยกัน ธุรกิจเองก็กลับมาดำเนินธุรกิจได้หลังจากที่ได้จัดสรรวัคซีนให้พนักงานแล้ว
3.การบริหารจัดการวัคซีนซึ่งจำเป็นที่จะต้องจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ที่สำคัญ ในจุดพื้นที่อ่อนไหวต่อการระบาด ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งพื้นที่แออัดมีผู้คนจำนวนมาก และเสี่ยงติดต่อกันง่าย เพราะการเดินทางต้องใช้ระบบสาธารณะที่เป็นที่กระจายเชื้อซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนในปริมาณที่มากและเร่งรัดการฉีดให้เร็วเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหนัก
รวมทั้งหากพิจารณาโจทย์ใหญ่ของปี 2564 คือ การพยุงเศรษฐกิจไปให้ได้ และในช่วง 3 เดือนข้างหน้าสำคัญมาก โดยหัวใจการฟื้นเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน และหากจัดการทั้ง 3 ส่วนได้ดี และเมื่อเริ่มเปิดเมืองแล้วไทยจะรับมือการระบาดของโควิดได้อีกครั้ง
"ต้นทุนที่เราจมอยู่กับโควิดสูงมาก ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกเรา คือ เดือนละเป็นแสนล้านบาท ในระยะเวลาที่ผ่านมาความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 9 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้มีนัยมากเพราะหมายความว่าเราซื้อวัคซีนได้หลายรอบมาก ทำไมเราไม่เอาความเสียหายมาซื้อวัคซีนเพื่อให้ประเทศพร้อมรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ระลอกใหม่ได้ดีขึ้น”