‘ททท.’ ยันสมุยพบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย ไม่กระทบโปรเจคดึงทัวริสต์เที่ยว ‘สมุย พลัส โมเดล’
‘ททท.’ ยันสมุยพบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย ไม่กระทบโปรเจคดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วม ‘สมุย พลัส โมเดล’ ที่เพิ่งเปิดโครงการเมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากเปิดโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” เป็นพื้นที่นำร่องแห่งที่ 2 รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมาเที่ยว 3 เกาะใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ต่อจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเปิดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นบินตรงเข้าสมุย ด้วยเที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-สมุย ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส รวม 9 คน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 (รอผลตรวจ 4 คน)
ขณะที่สถานการณ์ประจำวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายจากในประเทศ ททท.ยืนยันว่าไม่กระทบกับโครงการสมุย พลัส โมเดล เพราะผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวเข้ากักตัวในสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine : SQ) ทันที
ด้านนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงความพร้อมของโครงการสมุย พลัส โมเดลในงานแถลงข่าวเปิดโครงการฯ วานนี้ (15 ก.ค.) ว่า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบสมุย พลัส โมเดล มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ SOP (Standard Operation Procedures) เช่น พนักงานขับเรือ/รถ ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว กิจการ Wellness พนักงานโรงแรมส่วนหน้า SHA Plus Manager อาสาสมัครโรงแรม เป็นต้น จังหวัดได้สนับสนุนงบพัฒนาจังหวัดให้วิทยาลัยนานาชาติ เพื่อการท่องเที่ยวเกาะสมุย จัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลความปลอดภัยด้านสาธารณสุข การต้อนรับ ดูแลนักท่องเที่ยวและการให้บริการที่ดีด้วย
นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติ Command Center จำนวน 4 ศูนย์ โดยมีทั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดและอำเภอ มีการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และเกาะเต่า โดยออกคำสั่งจังหวัดเพื่อควบคุม กำกับ ได้แก่ มาตรการก่อนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงการเดินทางในพื้นที่ต้องเป็นไปตามรูปแบบสมุย พลัส โมเดล มีการกำหนดท่าเทียบเรือ เพื่อมิให้ใช้ร่วมกับเรือสาธารณะ จำนวน 3 ท่าเทียบเรือ คือ ท่าเทียบเรือหน้าพระลาน ท่าเทียบเรือท้องศาลา และท่าเทียบเรือบ้านแม่หาด
และได้มี “แผนเผชิญเหตุ” ไว้ 3 ระดับ คือ รุนแรงน้อย กรณีพบประชาชนในพื้นที่ติดเชื้อมากกว่า 20 ราย รุนแรงปานกลาง กรณีพบกระจายเชื้อ 3 คลัสเตอร์ ที่เกี่ยวเนื่องภายใน 2 สัปดาห์ และรุนแรงสูงสุด กรณีนักท่องท่องเที่ยวติดเชื้อจากโครงการมากกว่า 40 คน ภายใน 2 สัปดาห์ และมีการระบาดวงกว้างยากต่อการควบคุมให้กลับสู่สภาวการณ์ปกติ และได้ขอความร่วมมือประชาชน ผู้ประกอบการเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด