สรรพากรคาด20บริษัทยักษ์อีเซอร์วิสพร้อมจดแวต

สรรพากรคาด20บริษัทยักษ์อีเซอร์วิสพร้อมจดแวต

สรรพากรคาด 20 บริษัทขนาดใหญ่ผู้ให้บริการอีเซอร์วิสในประเทศไทยจะเข้าจดทะเบียนเสียภาษีแวตหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้ โดยขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก คาดจะแล้วเสร็จก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ขณะนี้ กฎหมายลูกของกฎหมายอีเซอร์วิสอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ ก่อนที่กฎหมายอีเซอร์วิสจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยกฎหมายลูกดังกล่าวจะทำให้กระบวนการจ่ายภาษีมีความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี

“กรมฯอยู่ในระหว่างการผลักดันการออกกฎหมายลูกของกฎหมายอีเซอร์วิสเพื่อออกรายละเอียดของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เช่น วิธีการยื่นแบบภาษี วิธีการชำระภาษี เป็นต้น ซึ่งกฎหมายลูกได้ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย”

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว กำหนดให้บริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศที่ขายบริการให้กับคนในประเทศไทย ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ให้กับกรมสรรพากรในอัตรา 7 % โดยบริษัทออนไลน์ที่ได้รับเงินจากผู้ใช้บริการในประเทศไทย จะต้องนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมฯในลักษณะการประเมินตนเอง

โดยบริษัท จะทำเฉพาะภาษีขาย คือ ยอดขายบริการได้เท่าไหร่ ก็จ่ายภาษีแวตในอัตรา 7% ของยอดขาย โดยที่ไม่ต้องทำภาษีซื้อ เหมือนที่ผู้ประกอบการในประเทศต้องทำ ทั้งนี้ กรณีบริษัทในประเทศ เมื่อมีรายได้จากยอดขาย ต้องหัก 7% ของยอดขายนำส่งกรมสรรพากร ขณะเดียวกัน เมื่อบริษัทต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเข้าบริษัท ต้องทำภาษีซื้อ เพื่อนำภาษีแวตที่ติดมากับวัตถุดิบ หักออกจากภาษีภาษีขาย

เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กรมฯสรรพากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อรองรับกฎหมายอีเซอร์วิส โดยนำตั้งแต่การลงทะเบียนเพื่อเป็นผู้เสียภาษีแวตจนถึงการจ่ายภาษี สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎหมายนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ขายบริการ ผ่านระบบออนไลน์ให้กับคนในประเทศไทย และมีรายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีแวตกับกรมฯทางระบบออนไลน์ของกรมฯ,โดยรายได้ 1.8 ล้านบาทดังกล่าว ให้นับรายได้ตั้งแต่ 1ก.ย.นี้เป็นต้นไป

เขากล่าวอีกว่า ผู้ขายบริการทางออนไลน์ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับกฎหมายฉบับนี้ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ราว 20 บริษัทตอบรับว่า จะเข้ามาจดทะเบียนกับกรมฯ ซึ่งในเบื้องต้นกรมฯยังคงคาดการณ์รายได้จากภาษีตัวนี้ว่าจะอยู่ราว 5 พันล้านบาท ปัจจุบันมีราว 60 บริษัททั่วโลกที่ใช้กฎหมายภาษีอีเซอร์วิสนี้

เขากล่าวอีกว่า เนื่องจาก การเสียภาษีตามกฎหมายอีเซอร์วิสจะเป็นลักษณะการประเมินตนเองของผู้เสียภาษี ดังนั้น การตรวจสอบของกรมสรรพากร จึงใช้ระบบ Post Audit โดยเป็นการขอความร่วมมือในระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเสียภาษี รวมถึง กรณีหากมีคนฟ้องมาว่า รายหนึ่งรายใดมีการจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง หากมีความน่าเชื่อถือกรมก็จะเข้าไปตรวจสอบ

กฎหมายการจัดเก็บภาษีแวตจากอีเซอร์วิสดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายภาษีที่ไทยและหลายๆประเทศในโลก ได้นำมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาฐานภาษีที่ถูกกัดกร่อน จากเทคโนโลยี ที่ทำให้การขายสินค้าและบริการ สามารถทำได้ทั่วโลก โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทอยู่ในประเทศที่เป็นผู้ซื้อด้วยการขายผ่านระบบออนไลน์

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรของไทยและของประเทศอื่นๆทั่วโลก ไม่สามารถจัดเก็บ VAT จากการขายบริการทางออนไลน์ได้ เนื่องจาก บริษัทที่ขายบริการนั้นๆไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในประเทศที่ขายบริการ

นอกจากการจัดเก็บแวตจากการขายบริการผ่านระบบออนไลน์แล้ว ขณะนี้ในระหว่างประเทศโดยการเริ่มเริ่มของกลุ่ม G7 เริ่มที่จะพิจารณาหาทางจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จากรายได้ของบริษัทระหว่างประเทศ ที่จดทะเบียนในประเทศหนึ่ง แต่มีรายได้ในประเทศอื่นๆด้วย