แห่..ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ 48 พันธุ์
ผู้ส่งออกข้าว เผย เปิดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ได้รับการตอบรับล้นหลาม นักวิจัย/นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว แห่ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดมากถึง 48 พันธุ์ พร้อมนำข้าวทั้งหมดปลูกในแปลงข้าว 3 แห่งแล้ว เผยตัดสินผู้ชนะเดือนธ.ค.นี้
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ภายหลังที่สมาคมฯประกาศให้ผู้สนใจส่งประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการแข่งขันเชิงพาณิชย์ ครั้งที่ 1 (2564 ) โดยปิดรับตัวอย่างข้าวตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ปรากฏว่า มีผู้สนใจส่งตัวอย่างพันธุ์ข้าวใหม่เข้าประกวดจำนวนมาก ทั้งจากหน่วยงานภาคเอกชน เช่น บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สถาบันวิจัยพันธุ์ข้าว และหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์วิจัยข้าว หน่วยงานด้านการวิจัยข้าว ได้ส่งตัวอย่างข้าวพันธุ์ใหม่เข้าประกวดทั้ง 3 ชนิดคือ ข้าวหอมไทยข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง เป็นจํานวนมากถึง 48 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ข้าวหอมไทยจํานวน 13 ตัวอย่างข้าวขาวพื้นนุ่มจํานวน 15 ตัวอย่าง และข้าวขาวพื้นแข็งจํานวน 20 ตัวอย่าง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่คาดไว้มาก
ขณะนี้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กรมการข้าว และ สมาคมผู้รวบรวมและจําหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้เดินหน้าในขั้นตอนต่อไป โดยได้จัดส่งตัวอย่างข้าวไปเพาะปลูกเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่งทั่วประเทศได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะเริ่มดําเนินการในเดือนก.ค.64 โดยการปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ที่ส่งเข้าประกวดนั้น พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ข้าวหอมไทยจะใช้พันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ข้าวขาวพื้นนุ่มจะใช้พันธุ์กข79 และ กข87 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบและข้าวขาวพื้นแข็งจะใช้พันธุ์กข41 และ กข85 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ
ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ดําเนินการวางแผนในการจัดทําแปลงกล้า การปักดํา การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการเก็บข้อมูลเพื่อวัดศักยภาพของพันธุ์ข้าว
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า สําหรับหลักเกณฑ์การตัดสินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่นั้น จะพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเพาะปลูก 2.การขัดสีcและ3. คุณภาพการหุงต้ม โดย 1.ด้านการเพาะปลูกจะพิจารณาจากผลผลิตต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว (ระยะเวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยว) ความต้านทานต่อโรค แมลง ศัตรูพืช ความสูงของลําต้น การหักล้มของต้นข้าว 2.ด้านการขัดสีจะพิจารณาจากผลได้จากการขัดสี (Milling Yield) ปริมาณแกลบและรํา ลักษณะคุณภาพเมล็ดทางกายภาพเช่น เรียวยาว ขุ่นใส ท้องไข่ เมล็ดเสีย และอื่นๆ 3. ด้านคุณภาพการหุงต้ม จะพิจารณาจาก ความนุ่ม ความแข็ง และความหนืด ความร่วน ความหอม (เฉพาะข้าวหอมไทย) รสชาติโดยรวม (ทํา Sensory test เปรียบเทียบ)ลักษณะปรากฏของข้าวที่หุงสุก ความสวยงาม เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการตัดสินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อการแข่งขันเชิงพาณิชย์ ครั้งที่ 1 (2564)
ในช่วงเดือนธ.ค. นี้
“ผู้ที่ชนะการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ จะได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้แก่ผู้ชนะการประกวด จาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะมอบเงินรางวัลสําหรับผู้ชนะเลิศการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ จํานวน 500,000 บาท ในแต่ละประเภทข้าว รวมทั้งหมด 3 รางวัล นอกจากนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะช่วยผลักดันให้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับการคุ้มครองพันธุ์หรือรับรองพันธุ์โดยเร็วที่สุดเพื่อขยายสู่ขบวนการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์โดยเร็ว”
นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานคณะกรรมการโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ กล่าวว่า การจัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งปฐมฤกษ์ ที่จะช่วยเชิดชูงานวิจัยด้านข้าวและนวัตกรรมพันธุ์ข้าวของไทย รวมทั้งเชิดชูนักวิจัยข้าวของไทย เพื่อสร้างชื่อเสียงแก่ข้าวไทย ซึ่งการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวนั้น ใช้เวลานานเป็นปีๆกว่าจะพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ได้สักพันธุ์หนึ่ง และที่ผ่านมานักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่แน่ชัดทางการตลาดว่าควรปรับปรุงพันธุ์ไปในทิศไหนอย่างไร
ดังนั้นเพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และให้ได้พันธุ์ข้าวที่ตรงเป้าหมายทางการตลาดทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจึงขอแนะนําเป้าหมายการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆทั้ง 5 ชนิดพันธุ์ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ข้าวพันธุ์ใหม่ๆควรเป็นพันธุ์ที่ศักยภาพในการให้ผลผลิตที่สูง มีคุณภาพการขัดสีและคุณภาพการหุงต้มที่ดีด้วย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีความสามารถในการแข่งขันได้ใหม่อีกต่อไป