เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นปลายทาง โตต่ำ ฟื้นช้า คนจนเพิ่มขึ้น
เมื่อเศรษฐกิจโตต่ำ ฟื้นตัวช้า ถดถอยยาวเช่นนี้ ทำให้คนไทยจำนวนมากเสี่ยงรายได้ลดลง กระทบความสามารถในการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตในระยะยาว
29 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังพึ่งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหลือขยายตัว 1.3% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนเม.ย. ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 2.3% สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังสอดคล้องกับทุกสำนัก โดยช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทุกสำนักต่างปรับลด GDP คาดการณ์ปีนี้ของไทยลง เช่น
KKP Research ที่ปรับลด GDP คาดการณ์ปีนี้เหลือ 0.5% จากเดิมประเมินไว้ 1.5% แถมยังห้อยท้ายว่า ในกรณีเลวร้าย GDP อาจถึงขั้นติดลบ โดยเฉพาะหากไม่สามารถคุมการระบาดในพื้นที่กรุงเทพ และรัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจของกรุงเทพคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของ GDP ทั้งประเทศ
เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีฯ ที่ปรับลด GDP คาดการณ์ปีนี้จาก 2.0% เหลือ 1.2% หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวที่ 1.8% เท่านั้น
สอดคล้องกับสถาบันระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ที่ปรับลด GDP คาดการณ์ของไทยเช่นกัน จาก 3.4% ซึ่งคาดการณ์ ณ มี.ค. 2564 เหลือ 2.2% จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่อยู่ในระดับต่ำ
การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจากทุกสำนัก สะท้อนข้อน่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อย่างน้อย 5 ประการ
ประการแรก เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะลำบากขึ้นจริงๆ ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้นเป็นไปโดยยาก ทั้งนี้แม้เครื่องยนต์ส่งออกยังดีอยู่ แต่ไม่เพียงพอพยุงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้มากนัก ในทางตรงข้าม ภาคส่งออกที่ยังโตได้ แต่การจ้างงานยังนับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งระบบ
ประการที่สอง ตราบใดที่ยังควบคุมการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความเสี่ยงทางรายได้ของผู้บริโภคที่ไม่แน่นอนมากขึ้น ผู้บริโภคเลือกถือเงินหรือออมเผื่อฉุกเฉินมากขึ้น บรรยากาศไม่เอื้อต่อการจับจ่าย
ประการที่สาม มาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาลที่เข้มข้นขึ้น เช่น การล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อออกไป จำกัดการออกจากบ้านหรือเวลาในการเดินทาง ส่งผลกดดันให้ธุรกิจปิดตัวมากขึ้น กระทบการจ้างงานทุกระดับ กระทบรายได้และความสามารถในการครองชีพของทุกครัวเรือน
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งแรงงานและธุรกิจ เช่น แรงงานหาเช้ากินค่ำ แรงงานนอกระบบ แรงงานในธุรกิจที่ถูกปิด ตลอดจนธุรกิจที่ถูกปิดมาโดยตลอดนับแต่มีโควิด เสี่ยงได้ผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเงินออมหมดแล้ว ไม่สามารถดูแลตัวเองต่อไปได้แล้ว
ประการที่สี่ มาตรการเยียวยาของรัฐทั้งช้า ไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุม ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจ หรือพยุงความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ มาตรการหลายอย่างอยู่ในภาวะ 'ดื้อยา' แรงงานและตลาดไม่ตอบสนอง ไม่ได้ประโยชน์เช่นเดิม
ประการที่ห้า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า ฟื้นตัวช้ากว่า ถดถอยยาวกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน
ทั้งนี้ ก่อนมีโควิด เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ราว 3% ต่อปี ซึ่งถูกมองว่าต่ำอยู่แล้วเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โควิดเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตที่ 3% ยังเป็นไปได้ยาก
สอดคล้องกับที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (20 ก.ค. 2564) ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.0% ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และต่ำกว่า GDP ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่คาดว่าอยู่ที่ 7.2%
เช่นเดียวกับผลสำรวจของ Nikkei (30 มิ.ย. 2564) ที่จัดอันดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด 19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยจากการจัดอันดับ 120 ประเทศ ไทยอยู่ที่อันดับ 118 หรือที่สามจากสุดท้าย และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ความสามารถในการฟื้นตัวต่ำสุด ต่ำกว่าทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
การโตต่ำ ฟื้นตัวช้า ถดถอยยาวเช่นนี้ ทำให้คนไทยจำนวนมากเสี่ยงรายได้ลดลง กระทบความสามารถในการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตในระยะยาว
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า โควิด-19 ทำให้ประชากรไทยตกอยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้น เพิ่มจาก 6.2% ในปี 2562 เป็น 7.4% ในปี 2563 หรือราว 700,000 คน โดยเฉพาะที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือในชนบท ที่อัตราความยากจนเพิ่มสูงกว่าในเมือง อัตราความยากจนในเมืองเพิ่มขึ้น 1 % ในชนบทเพิ่มขึ้น 1.6% โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นมากสุด
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ยังไม่เห็นปลายทางที่รัฐบาลสามารถคุมการระบาดได้ในระยะเวลาอันใกล้ เศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอยลงได้อีก ซึ่งกระทบทั้งภาคธุรกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน