รู้ไหม? ใคร 'คุ้มครองเงินฝาก' ให้เรา พร้อมตอบชัด! 'ลดคุ้มครองเงินฝาก' จะกระทบใครบ้าง
ทำความรู้จัก "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" มีหน้าที่อย่างไร หลังล่าสุดแจ้ง "ผู้ฝากเงิน" เกี่ยวกับการ "คุ้มครองเงินฝาก" ที่จะลดจาก 5 ล้านเหลือ 1 ล้านบาท เริ่ม 11 ส.ค.นี้ พร้อมตอบคำถามว่า จะกระทบเงินในกระเป๋าของเราอย่างไร ?
คน "ออมเงิน" ต้องสะเทือนเมื่อ "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" ประกาศถึงการลดวงเงิน "คุ้มครองเงินฝาก" ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นวงเงินที่กำหนดตามกฎหมาย โดยจะเริ่มมีผล 11 ส.ค.64 จากปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาทจนถึงวันที่ 10 ส.ค. 64
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนสงสัยว่า "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร คุ้มครองเงินฝากของใคร ครอบคลุมอะไรบ้าง
และที่สำคัญ คือ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากการคุ้มครองวงเงิน 5 ล้านบาทมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปหาคำตอบเหล่านี้ ไปพร้อมๆ กัน
- "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" คือใคร ทำหน้าที่อะไร ?
รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังการฝากเงินในบัญชีเงินฝากของทุกคนล้วนมีความคุ้มครองจาก "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" อยู่ด้วย โดย สถาบันดังกล่าว คือหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง
สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีบทบาท เมื่อสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยจะทำการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินคุ้มครองไปก่อน โดยผู้ฝากไม่ต้องรอให้กระบวนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น หมายความว่า เมื่อธนาคารที่ฝากเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ประชาชนจะได้รับวงเงินตามเกณฑ์คุ้มครอง คืนโดยเร็ว จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
โดยวงเงินคุ้มครองสูงสุดที่ผู้ฝากเงินจะได้คืนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย (ปัจจุบันคือ 5 ล้านบาท หลังจากวันที่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไปคือ 1 ล้านบาท) ต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง ไม่ใช่คุ้มครองต่อ 1 บัญชี
หมายความว่า ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามเอกสารการเปิดบัญชีซึ่งในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับ สถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝากในทุกสาขาและทุกบัญชีมารวมคำนวณนั่นเอง
- ทำไมต้อง "คุ้มครองเงินฝาก" ?
สาเหตุที่ต้องมีนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน เพื่อจะได้รับเงินฝากคืนภายในเวลาที่รวดเร็ว หากสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งประสบปัญหาต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อธนาคารที่เราฝากเงินล้ม เนื่องจากเพิกถอนใบอนุญาต ประชาชนที่ฝากเงินจะได้รับเงินส่วนที่ฝากอยู่คืนครบทั้งหมด ตามวงเงินที่ "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" กำหนดนั่นเอง
โดยจุดเริ่มต้นของการตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือการเรียกความเชื่อมั่น ต่อระบบสถาบันการเงินและลดกระแสการถอนเงินที่รุนแรง ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
- คุ้มครองเงินฝากของใคร คุ้มครองแบบไหนบ้าง ?
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากเป็น "เงินสกุลบาท" และเป็น "บัญชีเงินฝากภายในประเทศ" ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่
- เงินฝากกระแสรายวัน
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- บัตรเงินฝาก
- ใบรับฝากเงิน
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น
- เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
- เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
- เงินฝากในสหกรณ์
- แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
- เงินอิเล็กทรอนิกส์
- ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน
คุ้มครองครอบคลุมสถาบันการเงิน ดังนี้
- ธนาคารพาณิชย์(รวมสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ เปิดดำเนินการในประเทศ)
- บริษัทเงินทุน
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สถาบันการเงินที่นอกเหนือจากประเภทที่กล่าวข้างต้น จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย คุ้มครองเงินฝาก
- สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และยังไม่ได้กำหนดในพระราช กฤษฎีกาให้เป็นสถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครอง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น ทั้งนี้สถาบันการเงินที่กล่าวมา เป็นสถาบันการเงินของรัฐ
- สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
- สถาบันคุ้มครองเงินฝากลดวงเงินคุ้มครอง จาก 5 ล้านเป็น 1 ล้าน กระทบอย่างไร ?
หากดูตัวเลขจำนวนบัญชีจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 64) บัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากมากกว่าเกินกว่า 1 ล้านบาท มีประมาณ 1.79 ล้านบัญชี หรือประมาณ 1.5% ของผู้ฝากทั้งระบบ
แบ่งออกเป็นบัญชีประเภทต่างๆ เช่น
- เงินฝากออมทรัพย์แบบมี ATM และออมทรัพย์อื่นๆ จำนวน 211,201 บัญชี
- เงินฝากกระแสรายวัน จำนวน 24,523 บัญชี
- เงินฝากประจำ 1 ปี จำนวน 81,421 บัญชี
- เงินฝากประจำมากกว่า 2 ปี จำนวน 129,825 บัญชี
ฯลฯ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การลด "ความคุ้มครองเงินฝาก" จากวงเงิน 5 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาทย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท หมายความว่าผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ครั้งนี้ คือผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารที่รับฝากเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ได้มีจำนวนเงินฝากประเภทต่างๆ ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ก็จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ และไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้นั่นเอง
- หากสถาบันการเงินที่ฝากเงินอยู่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับเงินคืนอย่างไร ?
สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะหักหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และรายการอื่นๆ ที่ค้างชำระทั้งหมด (เฉพาะยอดหนี้ที่ครบกำหนดชำระแล้วเท่านั้น) ออกจากจำนวนยอดเงินฝากทุกบัญชีรวมกันของผู้ฝาก แล้วจึงจ่ายเงินฝากที่เหลือคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน ไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด (ปัจจุบันคือ 5 ล้านบาท หลังจากวันที่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไปคือ 1 ล้านบาท)
สำหรับยอดหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งยังไม่ต้องถูกหักจากเงินฝาก ลูกหนี้ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระ ตามเงื่อนไขของสัญญาต่อไป ทั้งนี้ ขั้นตอนการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นไปตาม มาตรา 52 และ 53 แห่ง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 กำหนด