'ทุนใหญ่ & เซียนหุ้น' เจาะ 'ขุมทรัพย์' ต่างแดน
'เรื่องจริง' หรือ 'ตื่นตูม' !! เมื่อทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวเป็นอันดับสุดท้ายในกลุ่มอาเซียน ! แต่ 'เอกชน' ไม่อาจรอได้เร่งเฟ้นหา 'ขุมทรัพย์ใหม่' หวังสร้างการเติบโตต่อ สอดคล้อง 'นักลงทุนรายใหญ่' กระจายพอร์ตสู่ตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังรีเทิร์นสูงกว่า
'โควิด-19' กำลังเป็นเชื้อไฟชั้นดีทุบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' (Recession) และฟื้นตัวช้าสุดในอาเซียน !! จะเป็น 'เรื่องจริง' หรือแค่ 'ตื่นตูม' !! ก็ยังไม่รู้ แต่จากข้อมูลรอบด้านของ 'กูรู' หลากหลายสำนักที่ออกมาไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าโควิด-19 ระลอกล่าสุด กำลังส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง... หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงมากและแนวโน้มยังไม่ลดลงด้วยซ้ำ...
และ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวเพียง 1.3% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเดือนเม.ย. ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.3% และ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังสอดคล้องกับทุกสำนัก โดยช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทุกสำนักต่างปรับลดจีดีพีคาดการณ์ปีนี้ของไทยลงเฉกเช่น
สอดคล้องกับ 'ผยง ศรีวณิช' เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็น -1.5% ถึง 0.0% ปัจจัยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง
ขณะที่ สถาบันระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ที่ปรับลด GDP คาดการณ์ของไทยเช่นกัน จาก 3.4% ซึ่งคาดการณ์ ณ มี.ค. 2564 เหลือ 2.2% จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่อยู่ในระดับต่ำ
ดังนั้น คงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากขึ้นจริงๆ ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้นเป็นไปโดยยาก ทั้งนี้แม้เครื่องยนต์ 'ส่งออก' ยังดีอยู่ แต่ไม่เพียงพอพยุงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้มากนัก
ทว่า ในสถานการณ์ที่ 'เลวร้าย' ยังมีผู้ประกอบการ 'ยักษ์ใหญ่' ของไทย ที่มีฐานะการเงินมั่นคงและมั่งคั่ง ที่มีเป้าหมายขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มองเห็น 'โอกาสลงทุนใหม่' ทั้งในบ้านและนอกบ้าน หลังพบว่ามีบางธุรกิจสภาพคล่องต่ำ จึงจำเป็นต้องขายกิจการหรือตัดสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกิจการลงบ้าง
แต่ว่า 'การลงทุนในไทย' เริ่มมีข้อจำกัดให้ยักษ์ใหญ่ขยับตัวยาก !! สะท้อนผ่านในแต่ละปีอัตราการเติบโตของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ' (จีดีพี) อยู่ในระดับต่ำมายาวนานกว่า 10 ปี
ดังนั้น เหล่าผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ไทย หากยังคงยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานที่มั่นใน 'ธุรกิจเดิม' และ แสวงหาโอกาสใน 'ขุมทรัพย์ใหม่ๆ' โดยเฉพาะในต่างแดน
สะท้อนผ่านในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของ 'การขยายการลงทุนต่างแดน' มีความชัดเจนมายิ่งขึ้นด้วยการออกไป 'ซื้อกิจการ' (M&A) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในชั่วโมงนี้เชื้อไฟชั้นดีจากโควิด-19 ทำให้ภาพดังกล่าวยิ่งมีความชัดเจนและมีบทบาทยิ่งขึ้น และเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ เพิ่มขนาดให้กิจการมีขนาดใหญ่เพียงพอกับการแข่งขัน และยกระดับเป็นบริษัทระดับโลก การลงทุนในต่างประเทศน่าจะเป็นคำตอบของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ของไทย
ผ่านไปครึ่งปีแรก 2564 บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้รายงานการเข้าลงทุนในหุ้นและการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศด้วยมูลค่าลงทุนระดับหมื่นล้านบาทจนถึงแสนล้านบาท !!
'เรือธง' (Flagship) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี !! กลุ่มปตท. คงต้องยกให้ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC โดยปตท. ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 45.18% ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้น 100% ใน Allnex Holding GMBH มูลค่ารวม 1.326 แสนล้านบาท และเงินกู้ของผู้ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายมูลค่า 1.581 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 1.48 แสนล้านบาท
บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ซึ่งปตท. ถือหุ้นใหญ่ 63.79% ได้ให้บริษัทย่อย บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ลงนามในสัญญาซื้อขาย เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในแปลง 61 ในประเทศโอมาน จากบริษัท บีพีเอ็กซ์พลอเรชั่น (เอปซิลอน) จำกัด หรือ บีพี มูลค่าลงทุน 73,500 ล้านบาท
ขณะที่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ซึ่งปตท. ถือหุ้น 31.72% เข้าร่วมทุน Avaada Energy Private Limited (Avaada) หนึ่งในบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดีย ผ่านบริษัทลูก GRSC โดยเข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสัดส่วน 41.6% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 3,744 เมกะวัตต์ และ โครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (Offshore Wind) คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 25% ขนาดกำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573
และล่าสุด บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP ซึ่งปตท. ถือหุ้นใหญ่ 45.03% เข้าลงทุนในหุ้น PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) โดยมีมูลค่ารวม 39,116 ล้านบาท คิดเป็นในสัดส่วนไม่เกิน 15.38% ของหุ้น CAP ผ่านการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งการขยายธุรกิจภายในประเทศได้ดำเนินการไปจนสมบูรณ์แล้ว โอกาสในการขยายธุรกิจในประเทศจึงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดที่เศรษฐกิจไทยเองก็มีศักยภาพในการเติบโตไม่สูงเท่ากับต่างประเทศ
ประกอบกับในโดยจังหวะเวลานี้ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายกิจการในต่างประเทศขาดสภาพคล่องและต้องขายกิจการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมในแง่ของเงินทุน อย่าง บริษัทในเครือ ปตท. ที่บริษัทแม่พร้อมสนับสนุนทางการเงินโดยเป็นผู้ให้กู้ระยะสั้น
'ทิติพงษ์ จุลพรศิริดี' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า สำหรับเม็ดเงินลงทุนทั้ง 2 โครงการในต่างประเทศ (อินเดีย-ไต้หวัน) บริษัทได้รับวงเงินกู้จากบริษัทแม่ (ปตท.) จำนวน '2 หมื่นล้านบาท' ซึ่งตามแผนบริษัทใช้เงินกู้ดังกล่าวประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นวงเงินจากกระแสเงินสดของบริษัทเอง
ในเบื้องต้นการลงทุนยังไม่มีแผนเพิ่มทุน แต่ในอนาคตหากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างการซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (GLOW) ที่มีมูลค่าระดับแสนล้านบาท ถึงเวลานั้นอาจต้องพิจาณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทแม่ (ปตท.) ที่ต้องการให้ GPSC เป็น 'เรือธง' (Flagship) ในการดำเนิน 'ธุรกิจไฟฟ้า' ของกลุ่ม ปตท. และเพื่อรองรับการเติบโตธุรกิจ ด้วยการแสวงหาโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และมุ่งมั่นการพัฒนาธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อก้าวเป็นบริษัทไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล 'ซีเอฟโอ GPSC ย้ำให้ฟังเช่นนั้น'
สอดรับแผนธุรกิจระยะ 10 ปีข้างหน้า (2564-2573) ของ GPSC อยากเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจ 'พลังงานทดแทน' (Renewable) แตะ 8,000 เมกะวัตต์ (MW) ! ซึ่งแบ่งเป็นในช่วง 5 ปีแรก (2564-2568) สู่เป้าหมายขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 เมกะวัตต์ก่อน
ทิติพงษ์ จุลพรศิริดี