วิกฤติร้านอาหาร บนมาตรการรัฐที่ไม่แน่นอน

วิกฤติร้านอาหาร บนมาตรการรัฐที่ไม่แน่นอน

เมื่อธุรกิจร้านอาหารเป็นฟันเฟืองสำคัญระบบเศรษฐกิจ และภายใต้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไม่มีทีท่าลดลงในเวลาอันสั้น มาตรการปิดร้านอาหาร และจำกัดการให้บริการ เสี่ยงถูกขยายออกไป ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ

ธุรกิจร้านอาหารเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการจำนวนมาก จ้างงานมาก เกี่ยวข้องกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบหรือซัพพลายเออร์จำนวนมาก กระจายตัวในทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค 

ทั้งนี้ ก่อนสถานการณ์โควิด

- ธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่าปีละ 4 แสนล้านบาท

- ในแง่จำนวน คิดเป็น 37% ของสถานประกอบการในภาคบริการ 

- จ้างงาน 32% ของแรงงานในภาคบริการทั้งหมด

- ร้านอาหารส่วนใหญ่มีเงินสดสำรองน้อย ต่ำกว่าธุรกิจบริการอื่น 

- หากไม่มีรายรับ โดยเฉลี่ยมีเงินพอจ่ายต้นทุนคงที่แค่ 45 วัน ขณะที่ธุรกิจบริการอื่นมีเงินสำรองที่ประมาณ 133 วัน

พูดง่ายๆ แม้ไม่มีโควิด ร้านอาหารก็เป็นธุรกิจที่เปราะบาง อัตราการอยู่รอดต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นอยู่แล้ว 60% ของร้านอาหารจึงมีอายุไม่เกิน 5 ปี

สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า มีจำนวนมาก คิดเป็น 30-40% ของพื้นที่แต่ละห้าง ร้านอาหารในห้างส่วนใหญ่พึ่งพารายได้ 70% จากการให้นั่งกินที่ร้าน อีก 30% จาก take away และ delivery ดังนั้นมาตรการของรัฐที่ปิดร้านอาหารในห้าง จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำนวนมาก 

หลายร้านต้องย้ายไปเช่าครัวนอกห้าง เพื่อจะได้ไม่ผิดกฎระเบียบและยังดำเนินธุรกิจได้ ให้ลูกน้องมีงานทำ หลายร้านตัดใจโละสต๊อกในราคาถูก เพื่อได้เงินสด ไม่ต้องทิ้งวัตถุดิบ หลายร้านเลือกปิดชั่วคราว ให้คนงานกลับต่างจังหวัด 

ทั้งหมดล้วนสร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการทางใดทางหนึ่ง ขณะที่มาตรการเยียวยาของรัฐยังไม่ชัดเจน เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการยังตั้งข้อสงสัยว่า มาตรการปิดร้านอาหารในห้างโดยไม่ให้ขายทั้ง take away และ delivery ลดการแพร่ระบาดได้จริงหรือไม่ เพราะแทนที่ผู้บริโภคหรือไรเดอร์จะกระจายไปซื้อตามห้างสรรพสินค้า ที่มีจุดให้บริการมากกว่า จัดระเบียบดีกว่า แออัดน้อยกว่า กลับต้องไปกระจุกรอรับอาหารจากจำนวนร้านที่ลดลง และไม่มีการจัดระเบียบดีเท่า

ขณะที่ต่อมา (3 ส.ค. 2564) เมื่อรัฐอนุญาตให้ร้านอาหารในห้างเปิดได้ แต่ห้ามลูกค้า take away อนุญาตให้สั่งผ่าน delivery เท่านั้น ก็มีคำถามว่า ทั้งที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างยังเปิด ประชาชนไปซื้อสินค้าได้ ทำไมประชาชนซื้ออาหารจากร้านอาหารไม่ได้

การออกมาตรการที่เปลี่ยนไปมา จึงถูกตั้งคำถามจากผู้ประกอบการและประชาชน ถึงความรอบคอบและคุ้มค่า ว่ามาตรการแต่ละอย่างช่วยคุมการระบาดได้เพียงใด คุ้มกับผลกระทบที่ร้านอาหารและประชาชนได้รับหรือไม่ ขณะเดียวกันร้านอาหารจำนวนมากในห้างก็ยังไม่กล้ากลับไปเปิด ทั้งจากความไม่คุ้มค่า และไม่มั่นใจว่ารัฐจะเปลี่ยนมาตรการอีกหรือเปล่า

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยประเมินเมื่อ พ.ค. 2564 ตอนรัฐบาลออกมาตรการห้ามกินอาหารในร้าน และจำกัดเวลาเปิดปิดในช่วงนั้นว่า สร้างความเสียหาย 5.5 - 7 หมื่นล้านบาท การปิดร้านอาหารรอบนี้ที่มีแนวโน้มยาวกว่า จึงเสี่ยงก่อผลกระทบมากกว่า

ทั้งนี้ เพื่อต่อลมหายใจให้ร้านอาหาร รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือ อย่างน้อย 3 ด้าน

ด้านแรก มีมาตรการช่วยเหลือระยะยาว ในการดูแลแรงงาน ลดค่าน้ำ ค่าไฟให้ธุรกิจร้านอาหาร มาตรการควรครอบคลุม ไม่ตกหล่น ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโดยอัตโนมัติ ไม่ยุ่งยาก

ด้านที่สอง ควรเป็นเป็นตัวกลางพูดคุยกับห้างสรรพสินค้าเพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าอย่างเป็นระบบ ไม่ปล่อยให้ร้านอาหารต้องเจรจาเอง ซึ่งเสี่ยงต่อรองได้น้อย รัฐสามารถใช้งบประมาณสนับสนุนบางส่วน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือทั้งร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า เช่นเดียวกับการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินให้ร้านอาหาร เพื่อช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน โดยอาจยืดเวลาชำระหนี้ รัฐแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย

ด้านที่สาม ออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่า มีแผนควบคุมการระบาดอย่างไร เช่น ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเป็นเท่าใด ร้านอาหารถึงสามารถเปิดได้ ให้เปิดในรูปแบบไหน ร้านแบบใดเปิดได้บ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ทางเลือกต่างๆ 

นอกจากนี้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนร่วมมือ รัฐควรสื่อสาร อธิบายเหตุผล แสดงความคุ้มค่าของมาตรการต่างๆ ว่าสมเหตุสมผล คุ้มค่าต่อการเสียสละของประชาชนจริงๆ 

ภายใต้สถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่มีทีท่าลดลงในเวลาอันสั้น มาตรการปิดร้านอาหาร และจำกัดการให้บริการ เสี่ยงถูกขยายออกไป ผู้ประกอบการร้านอาหาร แรงงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ซัพพลายเออร์ให้ร้านอาหาร ต้องเตรียมรับมือให้ดี