‘ลุมพินีวิสดอม’ลุ้นรัฐคุมโควิดปลุกเศรษฐกิจ-ธุรกิจฟื้นปีหน้า
“ลุมพินี วิสดอม” ระบุหากรัฐควบคุมการแพร่ระบาดโควิด พร้อมกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายในปีนี้ หนุนเศรษฐกิจ-ธุรกิจ อสังหาฯ กระเตื้อง หวังฟื้นตัวปี 2565
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยเครือแอล.พี.เอ็น. กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า จากการสำรวจของ “ลุมพินี วิสดอม” หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ภายในไตรมาส 3 นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ได้ใน ไตรมาส 3-4 ส่งผลการปิดโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปีนี้ อยู่ที่ 52,000-60,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท อยู่ในภาวะ "หดตัว" 5% ถึง "ขยายตัว" 8% เมื่อเทียบกับปี 2563
แต่หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในปีนี้ คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่อยู่ที่ 45,000-52,000 ยูนิต มูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท หดตัว 5-20% เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ต่อจากปี 2563
“ถ้ารัฐบาลคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ในไตรมาส 3 สามารถเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ตามแผนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกและภาคการผลิตยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดำเนินการได้ตามแผน และอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว”
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 23,551 ยูนิต ลดลง 18% คิดเป็นมูลค่า 130,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวนหน่วยการเปิดตัวลดลง แต่มูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการ The Forestias ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในไตรมาส 2 ทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการอสังหาฯ โดยรวมในครึ่งปีแรก 2564 “สูง” เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยที่เปิดที่ลดลง
จากหน่วยเปิดตัวทั้งหมด 23,551 ยูนิต เป็นโครงการอาคารชุด 9,235 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4% มูลค่า 55,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เทียบช่วงเดียวกันของก่อน มีอัตราขายได้เฉลี่ย 29% สูงกว่าปีที่ผ่าน เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการด้านสินเชื่อ (แอลทีวี) จึงเกิดแรงกดดันต่อการตัดสินใจซื้อ บวกกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถานบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 แต่ยังคงมีจำนวนยูนิตและมูลค่าที่มากกว่าอาคารชุด คิดเป็นสัดส่วน 61% ของหน่วยเปิดตัวทั้งหมด โดยมีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัย 14,316 ยูนิต มูลค่า 74,435 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก หดตัว 28% และ 18% ตามลำดับเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2563 แม้การเปิดตัวจะหดตัวลงแต่บ้านพักอาศัย มีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% ใกล้เคียงปีก่อน
โดยโครงการบ้านพักอาศัยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “ทาวน์เฮ้าส์” ได้รับความสนใจต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น คำนึงถึงระยะห่างทางสังคมมากขึ้น และมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้ ทาวน์เฮ้าส์ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยมีการเปิดตัวทาวน์เฮ้าส์ใหม่ 8,568 ยูนิต มูลค่า 25,267 ล้านบาท หดตัว 35% และ 33% ตามลำดับ เทียบช่วงเดียวกันปี 2563 มีอัตราขายได้เฉลี่ย14 %
“บ้านเดี่ยว” เปิดตัวใหม่ครึ่งปีแรก 2,984 ยูนิต มูลค่า 33,499 ล้านบาท หดตัว 31% และ 16% ตามลำดับ เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีอัตราขายได้เฉลี่ย 11% สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เนื่องด้วยเป็นสินค้าที่มีราคาขายค่อนข้างสูง และสถานการณ์เศรษฐกิจอาจไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มลูกค้าในระดับนี้มากนัก
สุดท้าย “บ้านแฝด” ได้รับความสนใจมากขึ้น อัตราขายได้เฉลี่ย 12% ด้วยรูปแบบบ้านที่ถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงบ้านเดี่ยว ราคาขายเฉลี่ย 5-8 ล้านบาท จึงเป็นทางเลือกที่ดี โดยครึ่งปีแรกเปิดตัวใหม่ 2,764 ยูนิต มูลค่า 15,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และ 26% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในครึ่งแรกของปี 2564 คอนโดมิเนียม ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท (Affordable Price) มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% จากยูนิตที่ขายได้ของคอนโดมิเนียม ขณะที่ บ้านพักอาศัย อย่าง ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ระดับราคาขายทรงตัว