สรรพสามิตโชว์ยอดปรามปรามสินค้าเถื่อนพุ่ง4เท่า
สรรพสามิตนำระบบไอทีเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามสินค้าเถื่อน หวังเพิ่มยอดจัดเก็บรายได้ เผยขณะนี้ยอดปราบปรามสินค้าเถื่อนพุ่งถึง 4 เท่าตัว ขณะที่ ผลจัดเก็บรายได้ 9 เดือนยังต่ำเป้า 11% เหตุโควิด-19 กระทบการบริโภค
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฯได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามสินค้าเถื่อน ทำให้ยอดการจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากยอดปราบปรามตามปกติ
“การปราบปรามสินค้าเถื่อน เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรมฯสรรพสามิตใช้Softwareติดตามกลุ่มที่มีพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายขายสินค้าที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันมักมีการสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย บนระบบออนไลน์ ทำให้ยอดการปราบปรามสินค้าเถื่อนทำได้ดีมากขึ้น”
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 หรือตั้งแต่เดือนต.ค.2563 ถึง มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต สามารถจับกุมผู้ขายบุหรี่เถื่อน ได้มากถึง 1.3 ล้านซองเทียบกับการจับตามปกติที่ทำได้ปีละ 2-3แสนซอง หรือเพิ่มขึ้นราว 4 เท่าตัว
เขากล่าวว่า กรมฯจะมอนิเตอร์ในสินค้าสำคัญๆหลายตัวที่มักมีกลุ่มคน ทำการลักลอบนำเข้าโดยหลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งนอกจากบุหรี่แล้ว ก็มีสุรา,ไวน์ และน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าที่ล้วนมีราคาแพง
“การปราบปรามสินค้าเถื่อน เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ของกรม เช่นกรณีน้ำมันที่ส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต แต่มีบางรายไม่ได้ส่งออกจริง แต่นำวนกลับมาขายต่อภายในประเทศ ซึ่งรายได้จากภาษีน้ำมันถือเป็นรายได้หลักของกรม เพราะเพียงเพิ่มการจัดเก็บได้อีก 5%ก็เป็นรายได้ภาษีราว 1 หมื่นล้านบาทแล้ว”
เขากล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีที่กระทรวงการคลัง เตรียมแผนเพื่อปฏิรูปภาษี โดยส่วนหนึ่งของการปฏิรูป คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ซึ่งรวมถึง การปราบปรามสินค้าเถื่อนดังกล่าวด้วยจึงถือเป็นความท้าทายของกรมสรรพสามิตที่จะรักษาระดับรายได้ของกรมฯให้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีได้รวม 4.16 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.5%โดยในปีงบประมาณนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณไว้ที่5.49 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ได้รับลดลงแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท เนื่องจาก การขยายตัวของเศรษฐกิจลดต่ำลง เหลือ 1.3%จากการคาดการณ์ในเดือนก.ค.นี้ จากเดิมที่เคยคาดการไว้เมื่อเม.ย.นี้ว่าจะขยายตัว 2.3%