XPG ครึ่งแรกปี 64 กำไรพุ่ง 791% มั่นใจปี 65โตก้าวกระโดดรับตลาดเงินดิจิทัล
"เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล" ครึ่งแรกปี 64 ดีเกินเป้า รายได้รวม 167 ล้านบาทและกำไร 65 ล้านบาท มั่นใจรายได้และกำไรปีนี้แตะ 3 หลักในตัวเลขที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา เชื่อมั่นรายได้จะเติบโตก้าวกระโดดในปี 65 รับตลาดการเงินดิจิทัลโลกมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านบาท
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ถือว่าน่าพอใจ โดยมีรายได้รวมส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนแล้ว 167 ล้านบาท สูงกว่ารายได้รวมส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนของทั้งปี 2563 ที่มีจำนวนรวม 141 ล้านบาท กำไรสุทธิฯ อยู่ที่ 65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 791% ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวก และทำให้เชื่อมั่นว่าแผนรุกธุรกิจที่แข็งแกร่งในช่วงต่อจากนี้ จะทยอยส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีรายได้เติบโตก้าวกระโดดได้ในปี 2565”
ปีนี้นับเป็นก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเอ็กซ์สปริง ทั้งการเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” และการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน จนสามารถเพิ่มทุนได้สูงถึง 7,111 ล้านบาท ภายในเวลาไม่นาน รวมถึงการร่วมลงทุนจากพันธมิตร เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ใน Digital Financial Service โดยปัจจุบันเอ็กซ์สปริงประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจการเงินที่พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนทุกระดับได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด ธุรกิจจัดการกองทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด และธุรกิจจัดการเงินลงทุน
“การเพิ่มทุนทำให้เอ็กซ์สปริงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีสภาพคล่องทางการเงินสูง ด้วยเงินทุนจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม 3,094 ล้านบาท และสัดส่วนการเพิ่มทุนอีก 7,111 ล้านบาท ทำให้เอ็กซ์สปริงมีเงินทุนในมือกว่า 10,000 ล้านบาท ที่จะนำไปพัฒนาธุรกิจใน 3 ด้าน อาทิ 1. ธุรกิจดิจิทัล: มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนรูปแบบดิจิทัล และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับบริการด้านการเงิน 2. ธุรกิจปัจจุบัน: ขยายธุรกิจหลักทรัพย์และให้บริการโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจรแก่ลูกค้า การสนับสนุนการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) การขยายธุรกิจบริหารจัดการกองทุนและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและความสามารถด้านเทคโนโลยี 3. ชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน”
นายระเฑียร กล่าวต่อว่า 3 จุดแข็งของเอ็กซ์สปริง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ “พันธมิตร – เงินทุนที่แข็งแกร่ง และการมี 17 Licenses ในมือ” โดยมีเป้าหมายที่จะรุกธุรกิจให้เติบโต ด้วยบทบาทของการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของเอ็กซ์สปริง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทหลักทรัพย์ การมุ่งเน้นหุ้นขนาดกลาง (Mid-cap) เป็นหลัก การบริการครบวงจรสำหรับตลาดทุนและโซลูชันในการขายโทเคนดิจิทัล (ICO) การยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ และการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทุนมนุษย์ (Human Capital) นอกจากนี้เอ็กซ์สปริงจะพัฒนาต่อยอดในอนาคต ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ (AM) และการลงทุนในบริษัทที่อยู่นอกตลาด (PE) เพื่อดึงดูดกลุ่มมั่งคั่งที่มีจำนวนมากขึ้น ตลอดจนลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่อีกด้วย
“Transformation & Leap Forward”
ในปี 2564 บริษัทวางแผนรุกธุรกิจครั้งใหญ่สู่การเป็น “Digital Financial Service” ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร ที่จะเปลี่ยนโลกธุรกิจการเงินเดิมๆ สู่นวัตกรรมการเงิน ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงโลกการเงินปัจจุบันและโลกบริการการเงินดิจิทัลอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงโลกการเงินและการลงทุนได้สะดวกและง่ายดาย ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูง รวมทั้งสามารถเปิดรับข้อมูลการลงทุนได้อย่างครอบคลุม โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงในตลาดโลก
ก้าวใหม่ของเอ็กซ์สปริงวันนี้ จึงมาจากการมองเห็นเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านบาท (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) ที่มีโอกาสเติบโตสูงและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อีกมากในอนาคต ซึ่งเอ็กซ์สปริงวางเป้าการเติบโตไปพร้อมตลาดโลกผ่านสินทรัพย์ที่จะมาแทนที่เงินสกุลต่างๆ เช่น คริปโทเคอเรนซี่ และการซื้อขายทองคำผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเพียงแค่ตลาดบิทคอยน์ตลาดเดียวก็โตกว่า 24 ล้านล้านบาท (8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) รวมทั้งในตลาดแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และ Decentralized Finance ที่มีขนาดกว่า 11.7 ล้านล้านบาท (3.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 1.35 ล้านล้านบาท (45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามลำดับ น
อกจากนั้น Utility Token และ Security Token ก็ยังเป็นการเงินดิจิทัลที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน ด้วยขนาดตลาดในปัจจุบันที่สูงถึง 1.95 ล้านล้านบาท (64,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทั้งนี้ ทั่วโลกยังนำโทเคนดิจิทัลและระบบบล็อคเชนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ทอง ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก (Disruption) ที่จะนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจของเอ็กซ์สปริงอีกมากมายในอนาคต
สำหรับแผนการรุกธุรกิจภายหลังการเพิ่มทุน เอ็กซ์สปริงจะเดินหน้าตามแผนธุรกิจ “Transformation & Leap Forward” เต็มรูปแบบ โดยตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด “XSpring AMC” บริษัทย่อยของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ได้ร่วมมือกับแสนสิริ “ร่วมลงทุนในกองสินทรัพย์” ที่ประกอบด้วยลูกหนี้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และพักอาศัย และสัญญาหลักประกันซึ่งประกอบไปด้วยที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (NPL) เพื่อนำมาบริหารสินทรัพย์ต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว
รวมทั้งจะรุกธุรกิจ Digital Finance มากขึ้น ผ่านเอ็กซ์สปริง ดิจิทัล ผู้ ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทย (ICO Portal) ออก ICO 2 ตัวในปีนี้ คือ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ” (SiriHub Investment Token) ซึ่งเป็น Real Estate-backed ICO ตัวแรกของไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ “Ready to use Utility Token” ที่เตรียมเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวงการเอนเตอร์เทนเมนต์และ EV Charging Ecosystem ของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ ชาร์จ แมเนจเม้นท์ (SHARGE) ผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งด้านการให้บริการชาร์จรถ EV ครบวงจร รวมถึงการเปิดรับคริปโทในการซื้อที่อยู่อาศัยและชำระค่าส่วนกลางของแสนสิริทุกโครงการ ครั้งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย
นอกจากนี้ เอ็กซ์สปริง ยังมีแผนการเปิดตัวธุรกิจนายหน้าและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset broker and dealer) ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการขอใบอนุญาต Digital asset fund manager ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และ Open-architecture licenses เพื่อเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนให้แก่ลูกค้า ตลอดจนการหาโอกาสการลงทุนในบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพสูง เป็นต้น
"ขอให้มั่นใจว่าบริษัทฯ จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจการเงิน ขับเคลื่อนธุรกิจเต็มที่อย่างไม่หยุดยั้ง สร้างโอกาสการลงทุนที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนและความพึงพอใจให้กับนักลงทุนที่สนใจ ทั้งรายเล็กรายใหญ่รวมทั้งกลุ่ม Wealth อันจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายสู่ผู้นำบริการทางการเงินครบวงจรทั้งโลกการเงินปัจจุบันและโลกการเงินดิจิทัลได้ในที่สุด”