“จุรินทร์” นำ ไทยผนึกกำลัง "กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม" ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“จุรินทร์” นำ ไทยผนึกกำลัง "กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม" ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“จุรินทร์”เปิดงานสัมมนา CLMVT+ Forum 2021 ผนึกกำลัง กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม" ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19  ดันCLMVT เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา CLMVT+ Forum 2021: Accelerating a Resilient Recovery โดยมีเอกอัครราชทูตกัมพูชาและ สปป.ลาว เข้าร่วม ว่า ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอยู่ในปัจจุบัน การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังคงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลจากทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนเกี่ยวกับทิศทางการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน แม้โลกหลังโควิด-19 (New Normal) อาจนำมาซึ่งโลกาภิวัตน์ในทิศทางใหม่ที่ผู้ผลิตย้อนกลับไปลงทุนเพื่อผลิตในประเทศมากขึ้น แต่วันนี้ตนยังคงมองเห็นโอกาสในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMVT ของเรา โดย CLMVT จะไม่เป็นเพียงแค่ตัวเลือกเพื่อกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน แต่จะสามารถเป็นพื้นที่แห่งการลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานได้  ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้งประเทศคู่ค้าสำคัญ ในการฟื้นฟูวิกฤติหลังโควิด-19 โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้าให้ CLMVT เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

162978010247  

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับแผนรับมือท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีความยืดหยุ่นและมุ่งไปสู่ความยั่งยืน โดยในด้านการรับมือกับปัญหาการค้าชายแดนที่ถูกปิดลง มีโจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่นำโรคระบาดข้ามพรหมแดนไปด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงมุ่งสนับสนุนกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น การขนส่งข้ามพรมแดนที่มีมาตรการอย่างเหมาะสม ทั้งในรูปแบบไร้เอกสาร โดยมีด่านการตรวจความเสี่ยงสุขภาพอยู่ด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ ทุกประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบมิติทางการค้าควบคู่ไปกับมิติทางสังคม เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าปลีก การบริการขนส่ง การสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ เป็นต้น การสร้างวิถีการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับภาคการผลิตฐานราก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพทั้งการผลิตและการตลาดของทั้ง SMEs และ Micro Enterprise ตลอดจนส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น Blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้น

“ผมเชื่อมั่นว่าเวทีแห่งนี้จะเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม อันเป็นการร่วมสร้างภูมิภาค CLMVT ที่มีจุดเด่นด้าน Resilience, Sustainability and Inclusiveness กลับมาเป็นภูมิภาคแห่งการค้าและการลงทุนที่เข้มแข็งกว่าเดิม ขออวยพรให้การจัดงานสัมมนา CLMVT+ Forum 2021 รวมถึงกิจกรรมคู่ขนานตลอดทั้ง 3 วันประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ” นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับการสัมมนา CLMVT Forum ปีนี้ จัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือ การจัดแข่งขัน Startup Pitching Competition ที่มีเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญโดยภาคการศึกษา ผ่านการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา รวมถึงการสร้างแพลทฟอร์มเพื่อแบ่งปันความรู้  เช่น โครงการให้คำปรึกษา และโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ จะทำให้เวทีนี้แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างกัน เกิดเป็นการปรับปรุงและพัฒนานโยบายที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดงาน CLMVT Forum เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงศักยภาพอันโดดเด่นของ 5 ประเทศสมาชิก ที่เป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็ง มีตลาดที่กำลังเติบโต มีทุนมนุษย์ที่เป็นแรงงานทักษะสูง และมีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 244 ล้านคน ซึ่งปัจจัยความเข้มแข็งเหล่านี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า จะสามารถผนึกกำลังในนามกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนแห่งภูมิภาคได้