คมนาคมสั่งโกยรายได้ที่ดิน ปั้นธนบุรี - ศูนย์การแพทย์จตุจักร
“ศักดิ์สยาม” ดันบริษัทลูกการรถไฟฯ คาด ธ.ค.นี้ เริ่มแอคชั่นเป็นรูปธรรม สั่งเร่งศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โกยรายได้ 1.2 แสนล้าน นำร่องปั้นที่ดินสถานีธนบุรี - สวนจตุจักร
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า การจัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท. ปัจจุบันเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลงหลักหรือธรรมนูญใหญ่ที่ใช้ในการดำเนินงานระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า “Master Agreement” เพื่อมอบอำนาจให้เอสอาร์ทีเข้ามาบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.อย่างเป็นรูปธรรม
“ขณะนี้เอสอาร์ทีได้ทีมบริหารแล้ว และดำเนินการเตรียมความพร้อม และการวางแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จไปในหลายเรื่องๆ หลังลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับการรถไฟฯ จะทำให้เอสอาร์ทีมีสิทธิในการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายในเดือน ธ.ค.นี้”
อย่างไรก็ดี หลังจากเอสอาร์ทีได้รับสิทธิในการบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.แล้ว จะมีการใช้วิธีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารใหม่ ทำให้บริษัทสามารถบริหารสินทรัพย์ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าทางเอสอาร์ที จะมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารโครงการใหญ่ๆ โดยมีดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบการให้เช่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
นายศักดิ์สยาม ยังเผยด้วยว่า เอสอาร์ทีได้รับสิทธิในการบริหารสินทรัพย์แล้ว หลังจากนี้ทุกโครงการประกวดราคาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาที่ดิน รวมไปถึงบริหารสัญญาต่างๆ ของ ร.ฟ.ท.ทางเอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินการเป้นคู่สัญญากับเอสอาร์ที ซึ่งความคล่องตัวของเอสอาร์ที จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน คาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.ได้โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เร่งศึกษาหารายได้ในที่ดินที่มีศักยภาพ เนื่องจากยังมีพื้นที่แปลงใหญ่ เช่น พื้นที่บริเวณถนนพระราม 9 จากแยกคลองตัน และถนนรัชดาภิเษก จึงควรนำไปพิจารณาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และให้เร่งนำพื้นที่แปลงขนาดกลางและขนาดเล็กมาเร่งพัฒนาให้เกิดรายได้ก่อน
รวมทั้งในผลักดันการพัฒนาสถานีธนบุรี ซึ่งมีความสำคัญอยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราช มีระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อถึง 3 สาย สามารถใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบ TOD ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และให้เอสอาร์ที เข้าไปพิจารณาความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่แปลงศูนย์การแพทย์บริเวณสวนจตุจักร