ผ่าแผนทำกำไร 'การบินไทย' ดันเป้าหมายคว้า 2 หมื่นล้าน

ผ่าแผนทำกำไร 'การบินไทย' ดันเป้าหมายคว้า 2 หมื่นล้าน

“การบินไทย” เดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการเริ่มเห็นสัญญาณบวก ลุยปรับโครงสร้างหนี้ – เทขายสินทรัพย์ไม่จำเป็น ชี้เป็นแรงหนุนพลิกทำกำไรสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท มั่นใจฟื้นตัวภายใน 5 ปี ตั้งเป้าทำกำไรเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสูงถึง 11,121 ล้านบาท นับเป็นการพลิกทำกำไรในรอบหลายปี และเป็นการทำกำไรในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินอยู่ท่ามกลางวิกฤตผล

กระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

รายงานข่าวจากการบินไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานดังกล่าวว่า ในภาพรวมการบินไทย และบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงาน 14,335 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 30,273 ล้านบาท หรือ 74.8% เป็นรายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 30,486 ล้านบาท หรือราว 84.2% และรายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,417 ล้านบาท หรือราว 35.5% ในขณะที่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,630 ล้านบาท

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 24,555 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 34,246 ล้านบาท หรือราว 58.2% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงตามปริมาณการผลิตการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยได้มีการผลักดันโครงการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้มากกว่า 600 โครงการ

อย่างไรก็ดี ส่วนสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานออกมาเป็นบวก เนื่องจากในช่วงดังกล่าวการบินไทย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 25,899 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย และปรับปรุงต้นทุนอากาศยาน เป็นต้น

โดยรายการสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้การบินไทยได้นั้น อาทิ การขายเงินลงทุนในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,712 ล้านบาท ให้กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงการขายเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ในราคาหุ้นละ 1.04 - 2.68 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 229 ล้านบาท และรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจำนวน 95 ล้านบาท

นอกจากนี้ การบินไทยยังขายเครื่องบิน B747-400 จำนวน 1 ลำ ซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีสุทธิ 49 ล้านบาท และรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเครื่องบิน จำนวน 171 ล้านบาท และขายที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ให้กับ บริษัท เอเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด โดยมีราคาที่ตกลงซื้อขายเป็นจำนวน 1,810 ล้านบาท

อีกทั้งการบินไทยได้ปรับปรุงรายการดอกเบี้ยและวันครบกำหนดชำระของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 6,831 ล้านบาท รวมทั้งได้ปรับปรุงหนี้สิน สำหรับเจ้าหนี้ภาระผูกพันตามสัญญาให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์รายใหญ่ ส่งผลให้มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 540 ล้านบาท เป็นต้น

การขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นของการบินไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องระหว่างจัดหาสินเชื่อใหม่ และจนกว่าสถานการณ์โดยรวมในอุตสาหกรรมการบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยช่วงแรกของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู การบินไทยผลักดัน 600 โครงการเพื่อปฏิรูปองค์กร ลดต้นทุน และเร่งหารายได้ทั้งจากการบินในด้านคาร์โก้ รายได้ภาคพื้น และรายได้จากการบริหารสินทรัพย์”

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนแรกที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ว่าความสำเร็จของแผนจะต้องเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ประกอบด้วย 1.มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนและได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ 2. การบินไทยต้องดำเนินการแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

3.สามารถทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนหน้าที่จะรายงานศาลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ โดย EBITDA ในปีหลังต้องไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท และ 4. บริษัทมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

163004286734

ด้านนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สายการพาณิชย์ได้รับนโยบายจากผู้บริหารแผนให้เร่งดำเนินการหารายได้ด้านการบินอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันนอกเหนือจากรายได้เที่ยวบินขนส่งสินค้า การบินไทยยังทำการบินเชิงพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งระหว่างเดือน ส.ค. - ต.ค.นี้ จะทำการบิน 16 เส้นทาง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและออสเตรเลีย รวมไปถึงเส้นทางภายในประเทศสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์