สนค.ดันแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำแร่ร้อนระดับโลก
สนค.จับมือจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำแร่ร้อน ชูจุดแข็งเป็นแหล่งน้ำแร่โคลน มีแร่ธาตุทัดเทียมต่างประเทศ ที่พบได้เพียง 3 แห่งในโลก มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการยุคใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการค้าและบริการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากไทย ว่า ขณะนี้ สนค. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากที่ได้คัดเลือกจังหวัดระนองและแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดต้นแบบ ในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและต้นแบบบริการ โดยใช้จุดแข็งของ “น้ำแร่ร้อน” เป็นตัวชูโรง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการที่ จ. แม่ฮ่องสอน และสามารถสรุปทิศทางการขับเคลื่อน และแนวทางการดำเนินการได้แล้ว โดยมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ได้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจบริการสุขภาพและเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการยุคใหม่ Wellness Hub จังหวัดแม่ฮ่องสอน” มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อบูรณาการและประสานการขับเคลื่อน Wellness Cluster ของจังหวัด โดยจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะ ประสานจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ และผู้สนใจร่วมลงทุน ผลักดันการจัดงานแสดงบริการและสินค้าด้าน Wellness และประสานงานเพื่อยกระดับการพัฒนา Wellness Cluster ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
สำหรับแนวทางการดำเนินการ จะชูจุดแข็งของจังหวัดด้วย Health and Eco Tourism Hot Spring หรือ บริการดูแลรักษาสุขภาพด้วยน้ำแร่ร้อน ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะยกระดับให้ “แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมืองสุขภาพชั้นนำของภาคเหนือตอนบน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่น” โดยได้กำหนดร่างกลยุทธ์การพัฒนาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการดูแลรักษาสุขภาพและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใน 4 ด้าน คือ การยกระดับการให้บริการดูแลรักษาสุขภาพและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง การยกระดับความสามารถด้านการตลาดและการค้า การยกระดับทักษะทรัพยากรมนุษย์ให้ได้ตามมาตรฐานผีมือแรงงานและส่งเสริมการจ้างงาน และการเพิ่มความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการพัฒนา ผ่านการจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจดูแลรักษาสุขภาพจังหวัดแม่ฮ่องสอน Mae Hong Sorn Wellness Cluster
นายภูสิต กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถนำจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติด้านน้ำพุร้อนมาผสมผสาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจรได้ โดยแหล่งน้ำแร่ภูโคลน เป็นแหล่งน้ำแร่และโคลนธรรมชาติที่มาจากสายน้ำแร่ใต้พื้นดิน ที่ผ่านการวิจัยแล้วว่ามีคุณสมบัติเป็นโคลนบำบัด มีแร่ธาตุทัดเทียมกับแหล่งน้ำแร่โคลนชั้นนำของต่างประเทศ ซึ่งพบได้เพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้น ได้แก่ ทะเลสาบ DEAD SEA ในประเทศอิสราเอลและจอร์แดน แหล่งโคลนจากลาวาภูเขาไฟหรือโคลนจากภูเขาไฟในประเทศโรมาเนีย และโป่งเดือดแม่สะงา หรือ ภูโคลน จ.แม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ ที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ได้แก่ น้ำพุร้อนผาบ่อง น้ำพุร้อนท่าปาย น้ำพุร้อนธรรมชาติป่าอนุรักษ์ไทรงาม น้ำพุร้อนเมืองแปง น้ำพุร้อนหนองแห้ง และน้ำพุร้อนแม่อุมลอง และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งน้ำพุร้อนไปยังชุมชน เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในรีสอร์ท และเปิดให้บุคคลภายนอกซื้อบัตรเข้าใช้บริการ รวมทั้งยังมีการให้บริการนวดเท้า นวดไทย นวดน้ำมัน และนวดขัดผิว เช่น บ้านรักไทย และภูโคลน เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการผลักดันให้แรงงานในชุมชนมีทักษะบริการเพื่อให้มีการจ้างงานในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ต่อเนื่องกับห่วงโซ่ของ Wellness การส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในชุมชน และพัฒนาทักษะผู้ประกอบการให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีกิจกรรมการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด