อีอีซีลุย ’โรดโชว์’ เมืองการบินอู่ตะเภาปลายปี
อีอีซีตั้งเป้าปลายปีนี้โรดโชว์ดึงลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะที่บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ผู้รับสัมปทาน คาดว่าเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท
อีอีซีตั้งเป้าปลายปีนี้โรดโชว์ดึงลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะที่บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ผู้รับสัมปทาน คาดว่าเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ทั้งพัฒนาสนามบินและเมืองการบิน
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ การลงทุนในพื้นที่ EEC ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยจะมีปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนหลายขยายการลงทุนต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา โครงการ EEC มีเป้าหมายกระตุ้นจีดีพีขยายตัว 5% จากเดิม 3% แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้จีดีพีเติบโตเพียง 2% ดังนั้นจึงต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้ขยายตัวตามเป้าหมาย
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จะเริ่มโรดโชว์สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งจะเปิดหน้าดินเพื่อเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเขื่อม 3 สนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภา
+++ ลงทุนเฟสแรกแสนล้าน’อู่ตะเภา-แอร์พอร์ตซิตี้’ +++
ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงการสนามบินอู่ตะเภา วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ระบุ การออกแบบสนามบินอู่ตะเภามีความคืบหน้าพอสมควร โดยยื่นแผนแม่บท หรือมาสเตอร์แพลนให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้ว และระหว่างนี้ได้ลงพื้นที่เพื่อเตรียมการต่างๆ เมื่อการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จพร้อมเริ่มงานก่อสร้างทันที
การพัฒนาโครงการเมืองการบินจะไม่ได้เป็นแค่เมืองอุตสาหกรรม แต่จะเป็นไลฟ์สไตล์ซิตี้ ตอบโจทย์การใช้งานครบถ้วน ทั้งด้านโรงแรม ร้านอาหาร ช็อปปิ้ง สิ่งอำนวยความสะดวกและสมาร์ทซิตี้ อีกทั้งจะเป็นเมืองแห่งการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless) เป็นเมืองดิจิทัล ซึ่งจะทยอยพัฒนาบนพื้นที่ 1 พันไร่ ด้วยงบประมาณการลงทุนหลายแสนล้านบาท
การลงทุนระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแผนลงทุนเฟสแรก ต้องรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และหากรวมการพัฒนาแอร์พอร์ตซิตี้ควบคู่ไปด้วยนั้น ในเฟสแรกต้องใช้งบประมาณเกิน 1 แสนล้านบาท และเป้าหมายการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ด้วยงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ตลอดระยะสัมปทาน 50 ปี
“เราประเมินว่าเมืองการบินจะสร้างจีดีพี 2.6 แสนล้านต่อปี ในปีที่ 10 ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่าย 1.3 แสนล้านต่อปี และยังกระจายการท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาค กระจายนักท่องเที่ยวทำให้เจริญอย่างทั่วถึง และสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาไม่ได้ดึงนักลงทุนและต่างชาติ เรายังมีเป้าหมายตอบโจทย์คนไทยทุกคน ที่เราจะสร้างสถานที่ท่องเที่ยว และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อทำให้คนไทยมองว่าได้ประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ในประเทศ ลดเงินไหลออกอีก 6 พันล้านต่อปี รวมสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี”
โครงการเมืองการบินจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งคนและสินค้า ทำให้นิคมอุตสาหกรรมขยายตัว เชื่อว่าแรงสนับสนุนจากการขนส่งที่ไร้รอยต่อนี้ จะผลักดันจีดีพีไทยเติบโต 20% ช่วยประเทศ 3.7 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมการสร้างงานอีกหลายแสนคน