BJC เปิดแผนกลยุทธ์โค้งท้ายปี 64 สู้ตลาดแข่งดุ
“บีเจซี”คาดธุรกิจค้าปลีกแข่งดุ ปรับกลยุทธ์“บิ๊กซี”ดึงลูกค้า สู้ “โลตัสส์ -แม็คโคร” แย้มรายได้ธุรกิจค้าปลีกปีนี้อาจต่ำกว่าปีก่อน แต่หากโควิดคลี่คลายหนุนรายได้ครึ่งปีหลังโต มั่นใจ 3 ธุรกิจ “แพ็คเกจจิ้ง- คอนซูเมอร์- เฮลธ์แคร์” โตต่อเนื่อง คงงบลงทุนปีนี้ 6-7 พันล้าน
นางสาวรวิภา บุญอยู่ นักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กลุ่มซีพี ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยโยกโลตัสส์ มาอยู่ภายใต้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)หรือ MAKRO คาดกลุ่มค้าปลีกเมืองไทยจะยังคงมีการแข่งขันรุนแรงต่อไป ขณะที่ บิ๊กซี ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าของบิ๊กซีมากขึ้น เช่น การทำสโตร์รูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ เช่น การปรับโซน เพิ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น ตามแต่ละพื้นที่
การขยายสาขาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ มินิบิ๊กซีที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้จะขยายสาขาเข้าไปในพื้นที่ที่เหมาะสมมากขึ้น การจัดหาสินค้า วางแผนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มสินค้าแพ็คใหญ่มากขึ้น รวมถึงเป็น Fresh Food มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้จะจัดโปรโมชั่นสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางชอปปิงออนไลน์อื่นๆ ด้วยเพื่อกระตุ้นยอดขายและกำลังซื้อ เพิ่มบริการดิลิเวอรี่ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 51 จังหวัดและในพื้นที่กรุงเทพฯเได้เพิ่มบริการส่งด่วนภายใน1 ชั่วโมงรวมทั้งมุ่งพัฒนาแบรนด์สินค้าของบิ๊กซี ที่มีคุณภาพ ราคาคุ้มค่า สามารถส่งเสริมกำไร ลดการสูญเสียสินค้าที่สูญหายได้อีกด้วย
นางสาวรวิภา กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสาขาบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต2 สาขา ในช่วงปลายไตรมาส 3 จนถึงไตรมาส4 ปีนี้และมีแผนปรับเปลี่ยนบิ๊กซีบางสาขา เป็นบิ๊กซี ฟู๊ดเพลส และ บิ๊กซีดีโป้ ขณะที่มินิบิ๊กซี จะขยายสาขาเพิ่มอีก 150 สาขาในปีนี้ จากครึ่งแรกปีนี้มีสาขาบิ๊กซีในทุกขนาดมากกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศ ประกอบด้วยบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต152 สาขา บิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา มินิบิ๊กซี 1259 สาขา และร้านขายยาPure 144 สาขา
สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่(บิ๊กซี)ในปีนี้ มองว่า มีโอกาสที่ยอดขายในปีนี้อาจต่ำกว่าปีก่อนได้ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์โควิดหลังจากนี้ก่อน แต่หากเริ่มเห็นตัวเลขยอดติดเชื้อดีขึ้นและภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ คาดว่า รายได้จากธุรกิจนี้มีโอกาสที่ครึ่งปีหลังจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 3 นี้ เริ่มเห็นยอดขายผ่านสาขา กลับมาเติบโตดีจากไตรมาส 2 ปีนี้ และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมากลับมาดำเนินการได้ค่อนข้างปกติ
ขณะที่อีก 3 ธุรกิจ คือ กลุ่มแพ็คเกจจิ้ง คาดเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับต่ำถึงกลาง กลุ่มสินค้าเฮลท์แคร์ คาดเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลางถึงสูง และกลุ่มคอนซูเมอร์ คาดเติบโตเป็นตัวหลักเดียวระดับกลาง
ทั้งนี้ กลุ่มแพ็คเกจจิ้ง วางกลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ไซส์ใหม่ จับกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น Slim Can หรือในส่วนกลุ่มขวดแก้วได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา จับกลุ่มลูกค้าใหม่อย่างฟังก์ชั่นนัลดริงก์ เป็นต้น, กลุ่มสินค้าเฮลธ์แคร์ เตรียมจัดจำหน่ายเครื่องตรวจโควิด-19ด้วยน้ำลาย ในไตรมาส3นี้ จะจำหน่ายผ่านร้านขายยา Pure และร้านค้าอื่นๆทั่วประเทศ ฯลฯ ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์ มุ่งเพิ่มการบริการลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพิ่มการกระจายสินค้ากลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non Food)
สำหรับงบลงทุนปีนี้คงที่ 6,000-7,000 ล้านบาท สัดส่วน 50-60% จะใช้ในการขยายสาขาบิ๊กซี รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงสาขาที่มีอยู่เดิม และส่วนที่เหลือจะใช้ในกลุ่มแพ็คเกจจิ้ง เฮลธ์แคร์ และคอนซูเมอร์