‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.74 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.74 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทยังผันผวนในฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติและตลาดรอผลประชุมอีซีบีในวันนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.65- 32.80บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(9 ก.ย.)  ที่ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.78 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอการประชุม ECB รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ในวันนี้ ทำให้ แนวโน้มเงินบาทยังแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่าในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจจะเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ขณะที่แนวรับหลักของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนราคาที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าใกล้ระดับดังกล่าว

บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบให้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับ รายงานภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Fed Beige Book) ล่าสุด ที่บรรดาเฟดในแต่ละพื้นที่ต่างรายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการบริการชะลอตัวลงจากผลกระทบของการระบาด Delta นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดยังมีความไม่แน่ใจในประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ บรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดเลยเลือกขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีS&P500 ปรับตัวลดลง -0.13% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาปิดลบกว่า -0.57% หลังหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็โดนเทขายทำกำไรมากขึ้น ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -1.1% จากแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ ยานยนต์ Volkswagen -3.1%, BMW -2.4% รวมถึง กลุ่มการเงิน Santander -2.3%, BNP Paribas -1.5% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุม ECB ในวันนี้ และมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาบ้างก่อนการประชุมดังกล่าว

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงผลประมูลบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการสูงกว่าคาดได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4bps สู่ระดับ 1.34% ทั้งนี้ แนวโน้มของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯรวมถึง บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อาจผันผวนและมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้น หากบรรดาธนาคารกลาง อาทิ ECB หรือ เฟด ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในการทยอยปรับลดคิวอี

อ่านข่าว-โบรกคาด ‘หุ้นไทย แกง่งตัว 1,630-1,650 จุด
 

ทางด้านตลาดค่าเงิน ความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.70 จุด นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าแตะระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.182 ดอลลาร์ต่อยูโร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ในวันนี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินยูโรอย่างชัดเจน โดยเงินยูโรอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หาก ECB เริ่มส่งสัญญาณปรับลดคิวอี

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์ของข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดจะจับตาการส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีของ ECB หลังเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาสินทรัพย์เสี่ยงยุโรปต่างปรับตัวสูงขึ้น (หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า 21% ในปีนี้) อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อโดยรวมก็เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากนั้น อาจมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี หาก ECB ย้ำจุดยืนเดินหน้าทำคิวอีผ่านโครงการ PEPP ไม่น้อยกว่า 85 พันล้านยูโร ต่อเดือน ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า ECB ยังคงช่วยสนับสนุนสภาพคล่องต่อ ซึ่งจะช่วยให้สินทรัพย์เสี่ยงยุโรปสามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ ขณะที่เงินยูโรอาจกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด (วันพฤหัสฯนี้ Williams, Daly และ Evans ส่วนวันศุกร์Bowman และ Mester) เพื่อวิเคราะห์มุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเฟด รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดคิวอี ว่าเฟดยังคงมุมมองลดคิวอีในปีนี้ หรือไม่ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมล่าสุดแย่กว่าคาด ซึ่งหากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอี ตลาดการเงินอาจยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ขณะที่เงินดอลลาร์ก็สามารถแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้