ภาระดอกเบี้ย "ทีเอฟเอฟ" ปมเร่งแผนทางด่วนพระราม 3

ภาระดอกเบี้ย "ทีเอฟเอฟ" ปมเร่งแผนทางด่วนพระราม 3

การทางพิเศษฯ ลั่น ต.ค.นี้ ได้ตัวเอกชนเริ่มก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 สัญญา 1 และสัญญา 3 หลังดีเลย์มากว่า 2 ปี ดันดอกเบี้ยกองทุนทีเอฟเอฟ

ล่าช้ามากว่า 2 ปี สำหรับงานประกวดราคาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ส่วนของสัญญา 1 และสัญญา 3 หลังจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดประกวดราคาครั้งแรกไปเมื่อ 21 พ.ค.2562 และปรากฏว่ามีเอกชนร้องเรียนผลการประกวดราคา ทำให้ท้ายที่สุดจึงต้องยกเลิกผลการประกวดราคา

โดยปัจจุบัน กทพ.ได้ดำเนินการประกวดราคารอบใหม่ ส่วนของสัญญา 1 และสัญญา 3 อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของเอกชน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ต.ค.นี้

สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร นับเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และผลักดันให้มีการใช้เงินลงทุนจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) มาพัฒนา ซึ่งเงินส่วนดังกล่าวกลายเป็นภาระดอกเบี้ยของ กทพ.ภาพรวมเมื่อปลายปี 2563 พบว่ามีภาระดอกเบี้ยสูงกว่า 6 พันล้านบาท อีกทั้งยังจะเป็นภาระดอกเบี้ยอีกปีละประมาณ 1.3 พันล้านบาท หากยังไม่สามารถเร่งรัดการลงทุนเพื่อหารายได้

สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เผยว่า กทพ.ได้เปิดให้ผู้รับเหมาซื้อเอกสารประมูลได้ยื่นข้อเสนอด้านราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก จำนวน 2 สัญญา วงเงินรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

แบ่งออกเป็น สัญญาที่ 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรมี จุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ถึง กม. 6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร และสัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะรวมประมาณ 5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กทพ.ประเมินว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาข้อเสนอแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกถึงรายละเอียดของเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาได้ เนื่องจากเป็นระเบียบตามระบบของกรมบัญชีกลาง

ภาระดอกเบี้ย \"ทีเอฟเอฟ\" ปมเร่งแผนทางด่วนพระราม 3

อย่างไรก็ดี กทพ.ยอมรับว่าการก่อสร้างทางด่วนทั้ง 2 สัญญานี้ ล่าช้าจากแผนและล่าช้าจากอีก 2 สัญญาที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ทำให้ กทพ.ต้องเร่งรัดก่อสร้างสัญญา 1 และสัญญา 3 นี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดภาพทางด่วนฟันหลอ เบื้องต้นประเมินว่าหากสามารถก่อสร้างสัญญา 1 และสัญญา 3 ได้ภายในปีนี้ จะใช้เวลาก่อสร้างราว 34 เดือน จากเดิมจะใช้ระยะเวลา 39 เดือน เพื่อบริหารจัดการให้แล้วเสร็จได้ใกล้เคียงกันในทุกสัญญา และเปิดให้บริการทั้งระบบได้ภายในปี 2567

ขณะเดียวกัน จากความล่าช้าของการประกวดราคาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อภาระดอกเบี้ยจากกองทุนทีเอฟเอฟ ในอัตรา 8% หรือปีละราว 1.3 พันล้านบาท ดังนั้นหากสามารถลงนามสัญญาเริ่มงานก่อสร้างได้โดยเร็ว คาดว่าจะเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงวดแรก 10% หรือราว 700 ล้านบาทต่อสัญญา ช่วยลดภาระดอกเบี้ยส่วนนี้

สำหรับความคืบหน้าสัญญา 2 และสัญญา 4 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

สัญญาที่ 2 ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางรวมประมาณ 5.3 กิโลเมตร กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ กับกิจการร่วมค้าซีทีบี ( บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) ปัจจุบัน ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม ณ วันที่ 27 ส.ค.2564 ราว 20.16%

สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ กับ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม ณ วันที่ 27 ส.ค. 2564 ราว 45.10%

และสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้าง ให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม จึงอยู่ระหว่างการเตรียมการประกวดราคา