PTT-ฟ็อกซ์คอนน์ ทุ่ม3-6 หมื่นล้าน ผลิตรถ EV
PTT เซ็น“ฟ็อกซ์คอนน์” ตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตรถEVในไทย มูลค่าลงทุนกว่า 3- 6 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเฟสแรกผลิต 5 หมื่นคัน พร้อมดันไทยขึ้นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน ด้าน ORจ่อปิดดีลธุรกิจนอนออยล์
บมจ.ปตท.(PTT) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯวานนี้(14 ก.ย.)ว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อยที่ปตท.ถือหุ้น 100% ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด(Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษทัทย่อยที่บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท โดย Arun Plus ถือหุ้น 40% และ ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนลอินเวสเมนท์ ถือหุ้น 60%
บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ที่ลงนามร่วมกันแล้วเมื่อ 14 ก.ย.2564 และคาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2564นี้ จะดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ Foxconn ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์ม MIH (Mobility-In-Harmony) ผสานกับองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของกลุ่มปตท.
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า บริษัทร่วมทุน จะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในประเทศไทย ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิต EV ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor
โดยแผนลงทุนในระยะ 5-6 ปี จะเริ่มจากการสร้างโรงงานใหม่ คาดว่าจะอยู่ในพื้นที่อีอีซี วางระบบการผลิต การบริหารซัพพลายเชนพร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิต EV ทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของ ฟ็อกซ์คอนน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถ EV เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด EV และ พลิกโฉมภาคการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวมได้
นายอรรถพล กล่าวว่า เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน/ปี และขยายเป็น 150,000 คัน/ปี ในอนาคต และไทยจะขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตอีวีแห่งภูมิภาค
“การร่วมทุนในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศเสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับประชาชน โดยหากประสบผลสำเร็จในระยะแรกจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจสู่เวทีโลกในอนาคตแล้ว ยังเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” นายอรรถพล กล่าว
นาย ยัง ลวือ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟ็อกซ์คอนน์ กล่าวว่า การผนึกความร่วมมือกับ ปตท. ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะสามารถนำเอาประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของทั้งสององค์กร มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง
ด้านนายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก(OR) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจนอนออยล์มีอิบิทดามาร์จินสูงที่ 25% ขณะที่ธุรกิจน้ำมันมีอีบิทด้ามาร์จินเพียง 5%
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาในการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) และการเข้าร่วมลงทุนอยู่จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่กลุ่มธุรกิจอาหารและไม่ใช่อาหาร โดยคาดหวังว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเร็วๆนี้ หากมีการเจรจาสำเร็จ