ธปท.จับมือแบงก์ชาติมาเลเซีย หนุนแบงก์พาณิชย์ไทยลงทุนต่างประเทศ
ธปท.จับมือแบงก์ชาติมาเลเซียให้สิทธิประโยชน์ธนาคารพาณิชย์ไทยออกไปลงทุน ชี้แบงก์กรุงเทพใช้โควตาแล้ว 1 แห่ง เชื่อแบงก์อื่นให้ความสนใจเพิ่ม สนับสนุนการค้า-การลงทุนของลูกค้า พร้อมเดินหน้าให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ธนาคารที่เหลือ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลัง ธปท.บรรลุผลการเจรจากับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ภายใต้กรอบความร่วมมือในภาคการธนาคารอาเซียน (Qualified ASEAN Bank) ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยสามารถขอใบอนุญาต QABs เพื่อออกไปดำเนินธุรกิจในมาเลเซียได้ แต่ไม่เกิน 3 ราย ในทางกลับกัน ธนาคารพาณิชย์ของมาเลเซียสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยได้ แต่ไม่เกิน 3 รายเช่นกัน
โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยเข้าไปจัดตั้งในประเทศมาเลเซียแล้ว 1 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ส่งผลให้เหลือโควตาธนาคารพาณิชย์ไทยเข้าไปจัดตั้งได้อีก 2 แห่ง ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับธนาคารพาณิชย์ของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับติดตามลูกค้าเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการค้าและการลงทุน โดยหลังจากนี้ ธปท.จะสื่อสารกฎเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะได้รับในการออกไปลงทุนอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ให้ความสนใจ แต่ความชัดเจนของห้วงเวลาที่จะออกไปลงทุนจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละธนาคาร
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะได้รับ ได้แก่ การเปิดสาขาธนาคาร เครื่องเอทีเอ็ม และเครื่องคีออส ในประเทศมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 40 จุด จากเดิมกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 8 จุด และต้องกระจายสาขาในอัตราส่วน 1 จุดในเมือง และ 3 จุดนอกเมือง รวมถึงสามารถยื่นขอจุดให้บริการเพิ่มได้ตามดุลพินิจ BNM นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยจะได้รับการสนับสนุน QABs จากไทยในการเข้าร่วมระบบการชำระเงินของมาเลเซีย และสามารถจ้างพนักงานสัญชาติอาเซียนได้โดยไม่จำกัดจำนวนและตำแหน่ง
“ธนาคารไทยออกไปลงทุนในอาเซียนเกือบทุกประเทศแล้ว ปัจจุบัน 9 ประเทศ จากทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่าแบงก์ไทยมีความแข็งแกร่ง ความสามารถในการขยายธุรกิจ และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับ (Fit in) ภาวะหรือบริบทของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนให้สูงขึ้น และอาจส่งผลให้ธนาคารรีรอเล็กน้อยในการขยายธุรกิจ แต่ธนาคารที่มีแผนอยู่แล้วเชื่อว่ายังคงดำเนินการต่อไป”
ทั้งนี้ ธปท.ยังเดินหน้าเจรจากับธนาคารกลางและหน่วยงานที่เป็นตัวแทนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง หากมีความพร้อมด้านสถานะ นโยบาย และสิทธิประโยชน์ที่แต่ละประเทศจะได้รับตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าจะเกิดความร่วมมือในลักษณะนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต