4 ปัจจัยหลักดันราคา ’ยาง’ ทะลุ 60 บาท/กก.

4 ปัจจัยหลักดันราคา ’ยาง’ ทะลุ 60 บาท/กก.

“เฉลิมชัย” คาดราคา’ยาง’พุ่งต่อเนื่องเกิน 60บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเป็นผลจาก 4 ปัจจัยหลัก เวียดนามเจอน้ำท่วม อินโดฯเจอโรคใบร่วง ส่วนไทยเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฉุดผลผลิตยางลดลง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ระบุ ราคายางพาราเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แต่คาดว่าในเร็วๆนี้ ราคายางจะขยับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้แรงงานเมียนมาไม่สามารถเข้ามากรีดยางในไทยได้ อีกทั้งการขนส่งมีปัญหา โรงงานแปรรูปชะลอและปิดสายการผลิต เพราะแรงงานติดเขื้อโควิด เมื่อการผลิตลดลง การรับซื้อยางก็ลดลงด้วยเข่นกัน
 
ส่วนโครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ยังคงมีอยู่เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร กรณีราคาต่ำกว่า 60 บาท/กก. จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาล โดยการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ได้จัดทำแผนรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท

ด้านผู้ว่าการ กยท. ณกรณ์ ตรรกวิรพัทระบุ ปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อราคายางพารา คือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีทั้งผลบวกและลบในเวลาเดียวกัน ปัจจัยลบคือโรงงานแปรรูปยางพาราหลายแห่งเกิดการแพร่ระบาดจึงไม่สามารถเดินเครื่องผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพาราได้เต็มที่ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 

ส่วนผลบวกมี 4 ปัจจัย คือ 1.สภาพอากาศปีนี้กระทบประเทศผู้ผลิตยางหลัก เช่น เวียดนามมีปัญหาน้ำท่วม อินโดนีเซียเกิดโรคใบร่วง ส่วนไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีมรสุมพัดผ่านทำให้ฝนตกในหลายพื้นที่ ผลผลิตยางจึงลดลงประมาณ 5 แสนตัน ขณะที่ประเทศผู้ใช้ยางหลัก เช่น จีน มีความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้นจากมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 

2.มาตรการที่ กยท.ดำเนินการคู่ขนานโดยให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แก่เกษตรกรที่ทำยางก้อนถ้วย ประมาณ 500 ล้านบาท ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วย ที่มีสัดส่วนประมาณ 60% ของผลผลิตยางทั่วประเทศ มีราคาดีขึ้นตลอดทั้งปี 

3.การสนับสนุนให้เกษตรกรและพ่อค้า ซื้อขายยางล่วงหน้าในตลาดกลางของ กยท.  และ 4.ตลาดยางในประเทศไม่มีการกดดันจากสต็อกยางของรัฐบาลที่ระบายออกไป 1.04 แสนตัน ทำให้ราคายางพาราในประเทศ ไร้ความกดดันจากสต็อกรัฐบาล