ออกจากกับดักรายได้ โควิด-19 ถ่วงเศรษฐกิจอีอีซีต้องเร่งโต
ณ ขณะนี้ ประเทศไทยยังติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) กล่าวคือ ยังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หลังจากที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เชื่องช้าลงเหลือเฉลี่ย 3.15% ต่อปีเท่านั้นในช่วงพ.ศ.2540-2559
จากที่เคยเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7.5% ต่อปีในช่วงพ.ศ. 2503-2539 นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” ซึ่งเป็นประเด็นท้าทาย ประเทศไทยจึงต้องเลือกแนวทางปฏิรูปสู่ “ประเทศไทย 4.0” เพื่อผลักดันตนเองเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ในปี พ.ศ.2570
ปัญหาที่ไทยยังไม่หลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะพ.ศ.2556-2558 อาทิ ปัญหาอุปทานส่วนเกินในหลายๆอุตสาหกรรม ข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่ การขาดพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ภาคเอกชนระมัดระวังการลงทุนมาเป็นเวลานาน
ในระยะหลังๆ จึงมักได้ยินคำพูดหรือแนวคิดเกี่ยวกับการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า สู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เจริญรุดหน้า และสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21
“ประเทศไทย 4.0” เป็นการกำหนดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value–Based Economy) โดย 1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าเกษตรดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี 2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และ 3) เปลี่ยนจากภาคการผลิต ไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีแผนรับและแผนรุก นั่นคือ แผนรับด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ขณะที่แผนรุกคือการลงทุนใน CLMV ยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย
แผนรับ อีอีซี เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งมีทั้งเขตอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง และรองรับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ อีอีซีจะเป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศเพื่อเชื่อมการลงทุนสู่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและทวาย และเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกไปยังกัมพูชาและเวียดนาม อีอีซี จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมก็ช่วยแก้ข้อจำกัดที่ไทยขาดแคลนพื้นที่ที่จะสามารถรองรับการขยายฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ขณะเดียวกันด้านแผนรุก CLMV เป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจเชื่อมการค้า การลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยที่โอกาสของผู้ประกอบการไทยใน CLMV ยังมีอยู่มาก เพราะประเทศเหล่านี้ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติอยู่
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ่วงเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยและอีอีซีนับจากนี้ต้องเร่งเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 5.0% ต่อปีเพื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2570 สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มเติม คือ 1) เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง 2) แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน 3) ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนให้มากขึ้น 4) พัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงกับ CLMV เพื่อกระตุ้นการลงทุนภูมิภาค 5) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอาจล่าช้าไปบ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางแก้คงต้องเร่งลงทุน สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และหนี Supply Chain Disruption ทั้งตู้สินค้าไม่เพียงพอ ค่าระวางเรือขาขึ้น การขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) ในบางอุตสาหกรรมสำคัญ อีอีซีจึงจำเป็นต้องได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นแม่แบบในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย