THANI พร้อมลุยจำนำทะเบียนรถบรรทุก หวังเฟสแรก 1,000 ราย ในไตรมาส 4ปีนี้

THANI พร้อมลุยจำนำทะเบียนรถบรรทุก  หวังเฟสแรก 1,000 ราย ในไตรมาส 4ปีนี้

“ราชธานี” พร้อมลุยตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบรรทุก ไตรมาส 4 นี้ ประเดิมช่วงแรกพันรายและหาตลาดใหม่ สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร หนุนแผนระยะ 3-5 ปี หวังสินเชื่อคงค้างโตปีละ 10% ส่วนปีนี้มั่นใจสินเชื่อใหม่เข้าเป้า ลุ้นตลาดฟื้นตัวจากเดือนก.ย.เริ่มมีสัญญาณบวก

นายโกวิท รุ่งวัฒนโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมให้บริการธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบรรทุก คาดว่าจะเริ่มได้ไตรมาส 4 ปีนี้  ในช่วงแรกเน้นคัดกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติดีราว 1,000 ราย จากพอร์ตลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่มีอยู่ 50,000 ราย และน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 

ทั้งนี้บริษัทได้วางระบบไอทีใหม่ซึ่งเพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมานี้ จะทำให้บริษัทพร้อมขยายปล่อยสินเชื่อแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจำนำทะเบียน และลิสซิ่งเครื่องจักร พร้อมกับปรับตัวให้ทันสมัย พัฒนาแฟลตฟอร์มบริการต่างๆ เช่น ระบบซื้อขายรถ โดยไม่ผ่านตัวกลางซึ่งยังเป็นไปตามแผนเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมาย ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในระยะ 3-5 ปี มีสินเชื่อคงค้างเติบโต 10% ต่อปี  

สำหรับผลการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทยังมั่นใจว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย มียอดสินเชื่อใหม่ที่ 23,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 23-24% จากปีก่อนและมียอดสินเชื่อคงค้างที่ 50,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน 

โดยครึ่งแรกปี 2564  มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 47,000 ล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 854 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 5.9% และมีรายได้ 1,686 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 4.9% หากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายต่อเนื่องคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น 

นายโกวิท กล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3 ปีนี้ ยอมรับว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อและการล็อกดาวน์ 2 เดือน (เดือนก.ค.-ส.ค.) กระทบยอดสินเชื่อต่ำกว่าเป้าราว 10%  เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ การปล่อยสินเชื่อกลุ่มรถบรรทุกยังเติบโตดี  

แต่อย่างไรก็ตามหลังคลายล็อกดาวน์ในเดือนก.ย.นี้ การปล่อยสินเชื่อเริ่มกลับขยายตัวได้ จากธุรกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ และลูกหนี้เริ่มกลับมามีสัญญาณชำระหนี้ดีขึ้น หวังว่า ไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว หนุนให้ยอดการปล่อยสินเชื่อที่กลับมาเติบโตได้ดีขึ้นได้ตามเป้า  จากยอดขายรถบรรทุกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการส่งออก และการเกษตรขยายตัวดีแม้มีการระบาดโควิด-19

   

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL)  บริษัทจะพยายามควบคุมไม่ให้เกินที่ระดับ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.49%  และคาด NPLน่าจะลดลงหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในแผนที่บริการจัดการได้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ปัจจุบันมีลูกหนี้มาขอความช่วยเหลือทั้งสิ้น  700 สัญญา เป็นมูลหนี้ 560 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 7,000 กว่าสัญญา มูลหนี้ 5,000 -6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรณีที่กลุ่มทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม 1-2% นั้น ส่งผลให้ปัจจุบัน TCAP ถือหุ้นรวม 59.79% มองว่า ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยการเข้ามาซื้อหุ้นในครั้งนี้มองว่าอาจเป็นความต้องการซื้อเพื่อเฉลี่ยราคาเท่านั้น และเป็นสัดส่วนไม่มากนัก