ออมสินคาดหนี้เสียแตะ3.5%หลังสิ้นสุดพักหนี้
ออมสินระบุ มีโอกาสที่หนี้เสียอาจขยับหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ เหตุคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยแก่รายย่อยตามมาตรการต่างๆไม่เป็นไปตามเกณฑ์กว่า 90% เชื่อหนี้เสียสูงสุดจะไม่เกิน 3.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินประเมินสถานการณ์หนี้เสียของธนาคาร โดยยอมรับว่า ระดับหนี้ของธนาคารอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากสิ้นสุดมาตรการที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจาก การปล่อยสินเชื่อในหลายมาตรการของธนาคารระยะที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่หรือกว่า 90% มีเครดิตต่ำ
เขายกตัวอย่าง การปล่อยสินเชื่อกู้ภัยโควิด-19 รายละ 1 หมื่นบาท จำนวน 8 แสนราย ในจำนวนนี้ มีเพียง 7% เท่านั้น ที่ใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามปกติ ส่วนที่เหลืออีก 93% เป็นการปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรน หรือ สินเชื่อเสริมพลังฐานรากรายละ 3-5 หมื่นบาท จำนวน 3-4 แสนราย ที่ปล่อยผ่าน MyMo มีเพียง 25% ที่เข้าเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ ที่เราสามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนกรณีเกิดหนี้เสีย
“ที่เราต้องปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนระดับฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่เป็นการกู้ไปเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่คุณภาพสินเชื่ออาจไม่สูง ซึ่งจะกระทบต่อหนี้เสียแน่ ส่วนจะเท่าไหร่ยังไม่ชัด แต่เราเชื่อว่า จะบริหารจัดการได้ เพราะแบงก์ยังแข็งแกร่ง”
อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินคาดว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ลูกหนี้รายย่อยดังกล่าว จะค่อยๆฟื้นความสามารถในการชำระหนี้เป็นปกติได้ภายในระยะเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างรุนแรง ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคบริการของประเทศ ที่ต้องอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในแต่ละปี 40 ล้านคน แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เม.ย.ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ในภาคบริการตั้งแต่โรงแรมที่พัก จนถึงร้านอาหาร และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
“เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป และเศรษฐกิจไทยและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อย จะเริ่มฟื้นกลับมาเป็นปกติก่อนเกิดโควิด-19ภายใน 2 -3 ปี”
ธนาคารออมสิน ถือว่า เป็นธนาคารที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ปัจจุบันระดับหนี้เสียอยู่ที่ 2.5 % ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากพ้นระยะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วภายในสิ้นปีนี้ อาจมีลูกหนี้รายบางไม่สามารถผ่อนชำนะหนี้ได้ตามปกติ และกลายเป็นหนี้เสีย แต่เชื่อว่าระดับสูงสุดของหนี้เสียของธนาคารสูงสุดจะไม่เกิน 3.5 % ซึ่งยังถือว่าเป็นระดับที่บริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารออมสินได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย โดยชะลอการฟ้องร้องตามกฎหมาย สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียก่อน 1 ส.ค.นี้ โดยจะชะลอการฟ้องตั้งแต่ 2 ก.ย.จนถึง 31 ธ.ค.นี้ เพื่อลดแรงกดดันให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ที่มีราว 4 หมื่นราย
เขากล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ที่เกิดจากการที่ประเทศเรากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว กระทบต่อสถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ แต่วิกฤตในครั้งนี้ธุรกิจขนาดใหญ่แม้ได้รับผลกระทบแต่ไม่มากเท่าวิกฤตในปี 2540 แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ SMEs และประชาชนฐานราก เนื่องจาก วิกฤตครั้งนี้กระทบในภาคบริการอย่างรุนแรง ซึ่งมีแรงงานในภาคบริการมากถึง 40 -50% ของแรงงานทั้งหมด