เวทีเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงเพิ่มความร่วมด้านเศรษฐกิจและวิชาการ 5 สาขา
พาณิชย์ เผยข่าวดีสมาชิกเตรียมขยายความร่วมมือ หลังเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง มีผลบังคับใช้กับทุกภาคี ล่าสุด จับมือเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา พร้อมจับมือเร่งหาข้อสรุปประเด็นความร่วมมือตามแผนเจรจา
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ฮ่องกง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประเด็นหารือสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบอย่างเป็นทางการว่าความตกลง AHKFTA และ AHKIA มีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนก.พ. 2564 และขณะนี้ภาคีสมาชิกกำลังเร่งเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นที่อยู่ในแผนเจรจาต่อไป เช่น กฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลง AHKFTA และข้อบทด้านการลงทุน เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าความตกลงทั้ง 2 ฉบับจะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 รวมถึงจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอาเซียนทุกรายการแล้ว ขณะที่ในด้านการค้าบริการนั้น ฮ่องกงเปิดตลาดให้อาเซียนมากกว่าที่ผูกพันภายใต้ WTO และได้เปิดตลาดให้ไทยตามที่เรียกร้อง เช่น บริการด้านการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน/กฎระเบียบทางเทคนิค กระบวนการประเมินความสอดคล้อง ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้า โลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของไทยและอาเซียนในตลาดโลกได้ โดยฮ่องกงจะให้การสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพและสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในปี 2564 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติ 8 โครงการ เป็นโครงการจากไทยโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันอาหาร 1 โครงการ คือ โครงการอบรมเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร
ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย โดยในช่วงเดือนม.ค.-ก.ค. 2564 การค้ารวมระหว่างไทยและฮ่องกงมีมูลค่า 8,418.91 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปฮ่องกง 6,707.76 ล้านดอลลาร์ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขณะที่การนำเข้าจากฮ่องกงมีมูลค่า 1,711.15 ล้านดอลลาร์ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ผ้าผืน เครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น