‘กิตติรัตน์’ วืดประธาน ธปท. กฤษฎีกา ตีความ 3 ข้อสร้างบรรทัดฐานใหม่การเมือง
เปิดคำบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะร่วม วินิจฉัยคุณสมบัติกกิตติรัตน์ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามนั่งประธานบอร์ด ธปท.ชี้ 3 ปมสำคัญ การนั่งเป็นประธานกรรมการแก้หนี้ การมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับนโยบายที่เป็นนโยบายพรรคการเมือง และพฤติกรรมลงพื้นที่ติดตามนโยบายพรรคการเมือง
KEY
POINTS
- เปิดคำบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะร่วม วินิจฉัยคุณสมบัติกกิตติรัตน์ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามนั่งประธานบอร์ด ธปท.
- ชี้ 3 ปมสำคัญ การนั่งเป็นประธานกรรมการแก้หนี้ การมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับนโยบายที่เป็นนโยบายพรรคการเมือง
- รวมทั้งการลงพื้นที่ติดตามนโยบายพรรคการเมืองโดยใส่เสื้อที่มีโลโก้พรรคการเมือง ซึ่งกฤษฎีกาชี้ว่าเป็นพฤติกรรมการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ต้องจับตาว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปของคนจากฟากการเมืองที่จะข้ามมานั่งในตำแหน่งนี้ คงไม่ง่ายนัก
การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระและอยู่ระหว่างรักษาการมาตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้ดำรงตำแหน่ง แต่ล่าสุดการตัดสินของคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะที่ได้ประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะหลัก คณะกรรมการคณะที่ 2 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และคณะที่ 13 ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการมีความเห็นว่านายกิตติรัตน์มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นประธานในคณะกรรมการ ธปท.โดยมีคณะกรรมการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 เห็นแย้งว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติ
ทั้งนี้ ในบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการตอบหนังสือเรื่องด่วนที่สุด ของ กค.1008/16404 ลงวันที่ 9 ธ.ค. ตามที่ประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อนาย ก. ให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่า โดยที่มาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ไว้
กรณีจึงมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" มีความหมายครอบคลุมตำแหน่งใดที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสั่งการนโยบายต่างๆ โดยประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยเป็นประเด็น 3 ข้อดังนี้
1.ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงถือได้ว่าเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า นาย ก. เคยดำรงตำแหน่ง
(1) ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566
และ (2) ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
และได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งต้องมีการวินิจฉัยว่าทั้งสองตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงถือได้ว่าเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองและมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล
2.การเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง ของนาย ก.มีลักษณะทางการเมือง บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องนี้ระบุด้วยว่า บทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566ฯ กำหนดให้ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี มอบหมาย ทั้งนี้ หากประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเท่านั้น โดยหากนายกรัฐมนตรีไม่มอบหมายดังกล่าว ก็ไม่มีหน้าที่อื่นใดอีก กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาย ก. มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย
ดังเช่นการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นาย ก. ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมือง พ. ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย
และ 3.คณะกรรมการกฤษฎีการะบุในบันทึกในเรื่องพฤติกรรมของการเป็นนักการเมือง เช่น การใส่เสื้อพรรคลงพื้นที่ตรวจโครงการถือว่าเป็นพฤติกรรมของนักการเมืองที่ขัดกับ พ.ร.บ.ธปท. โดยอ้างถึงการชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่าก่อนการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคการเมือง พ. โดย ภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. โดยการเยี่ยมชมภาคการเกษตรและโคนมในนามพรรคการเมือง พ.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566
และภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 แล้ว นาย ก. ยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่ เช่น การลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจข้าวรักษ์โลก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566
จะเห็นได้ว่ามติของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นดูถึงพฤติกรรมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ที่จะมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.แม้จะต่างกรรมต่างวาระ และต่างบทบาท แห่งหากมีการยุ่งเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมือง แม้จะลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วนานกว่า 1 ปี แต่ในทางพฤติการณ์แสดงออกว่าเป็นนักการเมือง ก็เท่ากับมีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งนี้ได้
ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของผู้ที่มาจากฟากฝั่งการเมืองแล้วจะมาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ธปท.ในอนาคต ส่วนผู้ที่จะเห็นโต้แย้งจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 3 คณะ คงต้องหาเหตุผลมาหักล้าง แต่ในมุมของรัฐบาลคงไม่กล้าที่จะเสนอชื่อเดิมให้ ครม.พิจารณาแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด ธปท.เพราะหากมีข้อผิดพลาดก็สุ่มเสี่ยงต่อสถานะของ ครม.และนายกรัฐมนตรี