กิตติรัตน์ ตกคุณสมบัติ 'ประธาน ธปท.' 4 ภารกิจสะดุด กระทบแผนเศรษฐกิจรัฐบาล
คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ตีตกชื่อ “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท.เหตุมีพฤติกรรมดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีส่วนในการกำหนด สั่งการนโยบาย รอขั้นตอนการเสนอชื่อใหม่จาก คลัง - ธปท. ชี้กระทบ 4 ภารกิจหลัก ใช้นโยบายการเงินดันเศรษฐกิจของรัฐบาล หลังการคลังไทยติดหล่ม
KEY
POINTS
- เหตุผลคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ตีตกชื่อ “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท.ชี้พฤติกรรมดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีส่วนในการกำหนด สั่งการนโยบาย
- ในขั้นตอนการเสนอชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ทั้งจากคลัง-ธปท.
- กิตติรัตน์ พลาดนั่งประธาน ธปท.กระทบ 4 ภารกิจหลัก ใช้นโยบายการเงินช่วยดันเศรษฐกิจของรัฐบาล หลังการคลังไทยติดหล่ม ทั้งแก้กฎหมายแบงก์ชาติ โยกหนี้ FIDF ไปบัญชี ธปท. หาช่องใช้ทุนสำรอง และแซนด์บ็อกซ์เงินดิจิทัล
การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนที่นายประเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือน
ภายหลังจากคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการ ธปท.ได้เสนอชื่อให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ธปท.โดยเสนอชื่อให้กับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้เสนอชื่อมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ย.2567
ทั้งนี้ขั้นตอนของกระทรวงการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ส่งชื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ ที่ สศค.ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ว่าผิดตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยมีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมานั่งประธานบอร์ดว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งที่ผ่านมามี 2 ประเด็นที่มีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตีความ ได้แก่
1.การดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน)
2.การดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เข้าข่ายการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ทั้งนี้การวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ในครั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการประชุมร่วม 3 คณะเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว โดยการประชุมมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 ธ.ค.2567 จากนั้นวันที่ 25 ธ.ค.2567 คณะกรรมการบางส่วนนัดประชุมสรุปผลการประชุมเพื่อเสนอผลการประชุมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอ ครม.
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ยังไม่ได้รับรายงานวันนี้ยังทำงานอยู่ ซึ่งยังไม่เห็น เดี๋ยวคงได้ ขอรอดูก่อน”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การตรวจสอบคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ ครั้งนี้มาจากก่อนที่จะมีเสนอชื่อของนายกิตติรัตน์ เข้าสู่ความเห็นชอบของ ครม.นั้น ทีมกฎหมายของนายกรัฐมนตรีได้มีการสอบถามกลับไปยังกระทรวงการคลัง ว่ามีประเด็นทางข้อกฎหมายในเรื่องใดที่ยังมีข้อที่อาจจะมีปัญหาหรือไม่
ทั้งนี้เนื่องจากหลังจากมีปัญหาเรื่องกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจากการลงนามแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้มีข้อกังวลว่าหากนายกรัฐมนตรี หรือ ครม.ลงนามให้ความเห็นชอบบุคคลที่ขาดคุณสมบัติอีกก็จะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน
ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงมอบหมายให้ สศค.ส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งในประเด็นที่อาจมีปัญหาทางข้อกฎหมายโดยส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
“กิตติรัตน์” มีพฤติกรรมดำรงตำแหน่งการเมือง
นอกจากนี้ มีรายงานจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าที่ประชุมมีมติว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติไม่สามารถนั่งประธานกรรมการ ธปท.ได้ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าพฤติกรรมของนายกิตติรัตน์เข้าข่ายดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และยังมีหน้าที่เป็นประธานการแก้ปัญหาหนี้สินด้วย
โดยมีบทบาทเข้าไปสั่งการหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นข้าราชการ และไม่ใช่หน่วยงานราชการในเรื่องนี้ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.ในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.ขั้นตอนการสรรหาจึงต้องกลับไปเริ่มใหม่โดยที่ ธปท.เสนอชื่อได้ 2 คน และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 คน
เปิดชื่อกฤษฎีกา 3 คณะร่วมวินิจฉัย
สำหรับคณะกรรมการ 3 คณะในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งประกอบด้วย
คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) และคณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) พิจารณาคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยว่าขัดคุณสมบัติการเป็นประธานกรรมการ ธปท.หรือไม่
ทั้งนี้ รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของแต่ละคณะ ประกอบด้วย คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คือ 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ 2.นายอาษา เมฆสวรรค์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการ ก.พ.
5.นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 6.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา 7.นายดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 8.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) 9.ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา และ 10.นายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) ประกอบด้วย 1.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
5.นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา 6.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด 7.นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง 8.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตรองอัยการสูงสุด 9.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 10.นายนพดล เฮงเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
คณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกัยการบริหารจัดการภาครัฐ) ประกอบด้วย 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. 7.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 8.พล.ร.อ.ปรีชาญ จามเจริญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ 9.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และ 10.นายนัฑ ผาสุข อดีตเลขาธิการวุฒิสภา
4 ภารกิจ“กิตติรัตน์”สะดุด
การที่รัฐบาลไม่สามารถส่งนายกิตติรัตน์เข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท.ได้จะกระทบกับแผนการที่รัฐบาลในการหาแหล่งเงินใหม่ในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่พื้นที่ทางการคลังของประเทศมีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถตั้งงบประมาณในการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมีภารกิจ 4 เรื่องที่คาดว่านายกิตติรัตน์ จะเข้าไปทำในฐานะประธานบอร์ด ธปท.ได้แก่
1.การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อต้องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท.แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังเพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้เพื่อทำนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐบาลลดหนี้สาธารณะลงได้ราว 5% ต่อจีดีพี เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
2.การนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ประโยชน์ โดยล่าสุดนายกิตติรัตน์ ระบุว่าประเทศไทยมีทุนสำรองที่สูงเกินไป ดังนั้นการนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์มาใช้ประโยชน์กับเศรษฐกิจดีกว่าให้ทุนสำรองนอนกองอยู่เฉยๆ
ทั้งการมีแนวคิดที่จะดึงเงินทุนสำรองมาตั้ง กองทุนความมั่งคั่งของรัฐ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) เหมือนในต่างประเทศ หรือนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ สร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นต้น
3.การผลักดันการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือบิตคอยน์ โดยทดลองในพื้นที่นำร่องอย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมทั้งการผลักดันให้มีเงินสกุลดิจิทัลที่เป็น Stablecoins โดยมีพันธบัตรรัฐบาลหนุนหลัง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่รับลูกจากคนในรัฐบาลอย่างพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าจะให้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องนี้
4.การแก้กฎหมายเพื่อลดความอิสระของ ธปท.เพื่อเอื้อให้ ธปท.เห็นพ้องต้องกันแนวคิดรัฐบาลมากขึ้น เช่นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท โดยให้นโยบายการเงินสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากที่ผ่านมารัฐบาลมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดย ธปท.เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์