‘กฤษฎีกา’ ประชุมร่วม 3 คณะ ตั้ง 2 ปม ชี้คุณสมบัติ ‘กิตติรัตน์’ นั่งประธาน ธปท.
“ปกรณ์” เผยประชุมร่วม 3 คณะกฤษฎีกาชี้ขาดตั้ง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ระบุยังไม่มีข้อสรุป รอผลประชุมพรุ่งนี้ ตรวจสอบ 2 ปม เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ดูพฤติกรรมเสี่ยง หากทำอะไรเกี่ยวข้องกับนโยบายมีความเสี่ยง
วันนี้ (24 ธันวาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังอยู่ระหว่างการหารือ และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคาดว่า จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นี้ เพื่อหาข้อสรุป
ทั้งนี้ยอมรับว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำหนังสือสอบถามมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยสำนักงานฯ ได้นำเข้าหารือในคณะกรรมการร่วม 3 คณะ คือ คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) และคณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) เพราะกรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
“ไม่รู้ว่ามีข่าวออกมาได้อย่างไร ว่ากฤษฎีกามีมติแล้ว เพราะคณะกรรมการร่วม ยังนัดประชุมกันในช่วงเช้าวันนี้ และคงไม่น่าจะมีรั่วออกมาจากในห้องประชุมเด็ดขาด และจะนัดประชุมกันอีกในวันพรุ่งนี้ก็น่าจะเสร็จสิ้น และสรุป ซึ่งสำนักงานฯ จะพยายามทำให้เร็วก่อนสิ้นปีนี้ ผมทำงานไม่ช้า” นายปกรณ์ กล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ทางกฤษฎีกาจะพิจารณานั้น จากการทำหนังสือสอบถามความเห็นของกระทรวงการคลังมี 2 ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ คือ 1.ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 2.ตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
นายปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยตั้งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งจะต้องไปดูว่า มีพฤติกรรม หรือการกระทำอะไรที่มีลักษณะยุ่งเกี่ยวกับทางนโยบายหรือไม่ แต่โดยทั่วไปตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เรียกง่ายๆ ว่า มีไว้แค่พิมพ์นามบัตรเฉยๆ เท่านั้น
ส่วนกรณีที่จะตีความว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องคือข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกัน โดยข้าราชการการเมือง เป็นการเมืองแน่ๆ อยู่แล้ว ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาของทั่วไป ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียด และต้องตีความกันอีกครั้งว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
สำหรับการตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ จะเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า ต้องไปพิจารณาว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ โดยส่วนตัวต้องไปดูถึงการทำงานด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากถ้อยคำที่เขียนไว้
“เมื่อกระทรวงการคลังถามเข้ามา กฤษฎีกาก็ตอบตามคำถามที่ถามมาว่าตำแหน่งทั้งสองนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งจะต้องถามผู้แทนในห้องประชุมก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดจะต้องสรุปให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาต่อเนื่องไปถึง ธปท.ได้” เลขาฯ กฤษฎีกา ระบุ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์