เปิดปมกฤษฎีกาตีตกคุณสมบัติ กิตติรัตน์ มีพฤติกรรม ‘ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’
ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ตีตกชื่อ “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท. เหตุมีพฤติกรรมดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีส่วนในการกำหนด สั่งการนโยบาย รอขั้นตอนการเสนอชื่อใหม่จาก คลัง-ธปท.
การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนที่นายประเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือน โดยภายหลังจากคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการ ธปท.ได้เสนอชื่อให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังให้ดำรงตำแหน่ง ธปท.โดยเสนอชื่อให้กับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้เสนอชื่อมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ขั้นตอนของกระทรวงการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ส่งรายชื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ โดยมี 2 ประเด็นที่ สศค.ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ว่าผิดตาม พ.ร.บ.ธปท.ที่มีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมานั่งประธานบอร์ดว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งทีผ่านมามี 2 ประเด็นที่มีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตีความได้แก่
1.การดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)
2.การดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เข้าข่ายการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ทั้งนี้การวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ในครั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการประชุมร่วม 3 คณะเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว โดยการประชุมมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 ธ.ค.จากนั้นในวันที่ 25 ธ.ค.คณะกรรมการบางส่วนได้มีการนัดหมายประชุมเพื่อสรุปผลการประชุมเพื่อเสนอผลการประชุมให้กับ นายพิชัยเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ว่าตนยังไม่ได้รับรายงาน
“ยังไม่ได้รับรายงานวันนี้ยังทำงานอยู่ ซึ่งยังไม่เห็น เดี๋ยวคงได้ ขอรอดูก่อน”นายพิชัย กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ในครั้งนี้มาจากก่อนที่จะมีเสนอชื่อของนายกิตติรัตน์เข้าสู่ความเห็นชอบของ ครม.นั้น
ทีมกฎหมายของนายกรัฐมนตรีได้มีการสอบถามกลับไปยังกระทรวงการคลังว่ามีประเด็นทางข้อกฎหมายในเรื่องใดที่ยังมีข้อที่อาจจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะภายหลังจากมีปัญหาเรื่องกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจากการลงนามแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้มีข้อกังวลว่าหากนายกรัฐมนตรี หรือครม.ลงนามให้ความเห็นชอบบุคคลที่ขาดคุณสมบัติอีกก็จะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ได้เช่นกัน กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้ สศค.ส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งในประเด็นที่อาจมีปัญหาทางข้อกฎหมายโดยส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
“กิตติรัตน์” มีพฤติกรรมดำรงตำแหน่งการเมือง
ทั้งนี้มีรายงานจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าที่ประชุมมีมติว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติไม่สามารถนั่งประธานบอร์ด ธปท.ได้โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าโดยพฤติกรรมของนายกิตติรัตน์เข้าข่ายดำรงตำแหน่งทางการเมืองเนื่องจากเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและยังมีหน้าที่เป็นประธานการแก้ปัญหาหนี้สินด้วย
ซึ่งตำแหน่งนี้เข้าไปมีบทบาทเข้าไปสั่งการหน่วยงานต่างๆทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่หน่วยงานราชการในเรื่องนี้ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.ในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานธปท.ขั้นตอนการสรรหาจึงต้องกลับไปเริ่มใหม่โดยที่ธปท.เสนอชื่อได้ 2 คน และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 คน
สำหรับคณะกรรมการ 3 คณะในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งประกอบด้วย
คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง)
คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)
และคณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) จะมีการพิจารณาคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยว่าขัดคุณสมบัติการเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่
โดยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะต่างๆ นั้น ประกอบด้วย คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คือ 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ 2.นายอาษา เมฆสวรรค์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการ ก.พ. 5.นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 6.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา 7.นายดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 8.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) 9.ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา และ 10.นายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) ประกอบด้วย 1.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 5.นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา 6.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด 7.นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง 8.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตรองอัยการสูงสุด 9.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 10.นายนพดล เฮงเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
คณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกัยการบรหารจัดการภาครัฐ) ประกอบด้วย 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. 7.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 8.พล.ร.อ.ปรีชาญ จามเจริญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ 9.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และ 10.นายนัฑ ผาสุข อดีตเลขาธิการวุฒิสภา