'กิตติรัตน์' ตกประธานบอร์ด ธปท.กฤษฎีกาฟันใส่เสื้อเพื่อไทย ฝักใฝ่การเมือง
เปิดบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ เสียงข้างมากตีตกคุณสมบัติกิตติรัตน์ หลุดประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ดูพฤติกรรมละเอียดหลังลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ พบมีพฤติกรรมแบบนักการเมืองใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ตรวจโครงการเกษตร นั่งประธานแก้หนี้ที่เป็นนโยบายพท.
KEY
POINTS
- เปิดบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ เสียงข้างมากตีตกคุณสมบัติกิตติรัตน์ หลุดประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
- ดูพฤติกรรมละเอียดหลังลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ
- พบมีพฤติกรรมแบบนักการเมืองใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ตรวจโครงการเกษตร นั่งประธานแก้หนี้ที่เป็นนโยบายพท.
- ชี้ทำหน้าที่ยุ่งเกี่ยว สั่งการนโยบายพรรคการเมือง
จากกรณีปรากฏข่าวที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะมีเสียงข้างมาก เห็นว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคัดเลือกให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่นายกิตติรัตน์ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย
เมือวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ได้เปิดบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีการประชุมร่วม 3 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะหลัก สอดรับกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 13 ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรม อภิปรายเห็นด้วย ส่วนเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย คือ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกาในคณะที่ 2เสียงส่วนใหญ่ที่ตีความว่า
ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะหลัก สอดรับกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 13 ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรม อภิปรายเห็นด้วย ส่วนเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย คือ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากเห็นว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับรายละเอียดบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าสืบเนื่องจากกระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 1008/168804 ลงวันที่ 8 ธันวาคม2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่ประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อนาย ก. ให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551บัญญัติลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า นาย ก. เคยดำรงตำแหน่ง
(1) ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่14 กันยายน พ.ศ. 2566
และ (2) ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567
เปิดมติที่ประชุมกฤษฎีกา 3 คณะ
โดยที่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารมาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่งแห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) เพื่อประชุมหารือร่วมกันเป็นพิเศษโดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่าก่อนการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคการเมือง พ.
“ภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. โดยการเยี่ยมชมภาคการเกษตรและโคนมในนามพรรคการเมือง พ.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 และภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 แล้ว นาย ก. ยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่ เช่น การลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจข้าวรักษ์โลก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566”
พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551บัญญัติลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับการพิจารณาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ได้มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่481/2535 ว่า“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อความที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า“ข้าราชการการเมือง” โดยรวมถึงบรรดาผู้ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมดโดยงานด้านการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (adninistration) ให้เป็นไปตานโยบายที่กำหนดนั้นดังนั้น“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
กิตติรัตน์มีบทบาทสั่งการนโยบาย
สำหรับข้อพิจารณาประการที่สอง นอกจากการพิจารณาคำสั่งหรือระเบียบมอบหมายหน้าที่แล้ว อาจพิจารณาได้จากพฤติการณ์อันเป็นข้อเท็จจริง ในการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ เช่น การแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เพื่ออำนวยการและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผลขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ แม้ว่าคำสั่งที่แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่และอำนาจถึงขนาดที่เป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม
แต่หากการมอบหมายหน้าที่ บทบาท และลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ในความเป็นจริงทางพฤตินัยของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นงานด้านการเมืองที่เกี่ยวกับการอำนวยการบริหารประเทศ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด หน้าที่และอำนาจรวมทั้งบทบาทที่เกิดจากการมอบหมายและการปฏิบัติในความเป็นจริงของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีตามข้อหารือนี้ จึงสามารถพิจารณาฐานะการดำรงตำแหน่งประประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐนตรีลงวันที่ 14กันยายน พ.ศ. 2566และประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6พฤศจิกายน พ.ศ.2566ได้ดังนี้
กรมีการแต่งตั้งนาย ก. ให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมตรี พิจารณาได้ว่าที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง มีเหตุผลหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือไม่
หลักฐานชัดสวมเสื้อพรรคการเมือง
ปรากฎข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง พ. และภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. และต่อมา นาย ก. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566โดยยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่
ทั้งนี้ หากประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเท่านั้น โดยหากนายกรัฐมนตรีไม่มอบหมายดังกล่าว ก็ไม่มีหน้าที่อื่นใดอีก กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาย ก. มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย
ดังเช่นการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นาย ก. ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมือง พ.ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย