ปตท.-ฟ็อกซ์คอนน์ลุยอีวี ดันโมเดลธุรกิจระดับโลก

ปตท.-ฟ็อกซ์คอนน์ลุยอีวี ดันโมเดลธุรกิจระดับโลก

ปตท.หวังเข็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าโตระดับโลก จับมือ “ฟ็อกซ์คอนน์” ตั้งโรงงานในไทยเป็นแห่งที่ 2 ของโลก เดินหน้าเป็นฮับผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ปักหมุดปี 2565 ลุยสร้างโรงงาน พร้อมโรดโชว์ดึงค่ายรถยนต์

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 เพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยอาจมีการตั้งโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งคัน รวมถึงผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ในการจัดตั้งกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มขึ้นแล้ว โดยในปี 2565 จะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งโรงงาน และเริ่มการลงทุนในมูลค่า 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกถือว่าศักยภาพเพราะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย

สำหรับรูปแบบของธุรกิจที่ ปตท.และฟ็อกซ์คอนน์ ได้ร่วมกันวางไว้ จะเป็นการพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อซัพพอร์ตให้กับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถนำชิ้นส่วนรถยนต์หรือมอเตอร์ที่โรงงานผลิต ไปประกอบรวมกับโครงร่างของรถยนต์ที่ออกแบบไว้ ก็สามารถผลิตออกมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทำการขายได้ โดยไม่ต้องลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์

“การทำงานของโรงงานนี้ เราจะดีไซด์ฐานรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้า จัดเรียงแบตเตอรี่และระบบคอนโทรลรถให้กับลูกค้าและค่ายรถยนต์ต่างๆ หลังจากนั้นลูกค้าก็ดีไซด์โครงรถ บอดี้ตัวรถอยากให้เป็นแบบไหน ก็นำมาครอบกับระบบรถยนต์ที่เราผลิตให้แล้วประกอบรถออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะผลิตป้อนให้กับค่ายรถใดค่ายรถหนึ่ง แต่ชิ้นส่วนที่ ปตท.จะผลิตจะป้อนได้ให้ผู้ผลิตได้ทุกราย” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานที่ทำการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าในลักษณะนี้จะมีเพียง 2 แห่งในโลก คือ โรงงานของทางฟ็อกซ์คอนน์ที่กำลังลงทุนอยู่ในประเทศสหรัฐ และอีกแห่งคือความร่วมมือที่กำลังจะก่อสร้างโรงงานในไทย ซึ่งโรงงานในสหรัฐจะผลิตรถอีวีออกมาจำหน่ายได้ก่อนโรงงานในไทย 

นอกจากนี้ ปตท.มองว่าในอนาคตอาจจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา รองรับเพื่อการผลิตส่งออกไปทั่วโลกได้ เพราะในโลกมีประเทศที่ขับขี่ด้วยรถพวงมาลัยขวาน้อย ดังนั้นจึงมีผลทำให้มีการผลิตรถอีวีแบบพวงมาลัยขวาน้อยตามไปด้วย ซึ่งทำให้ ปตท.และฟ็อกซ์คอนน์ มองตลาดจุดนี้

รวมทั้งที่ผ่านมาได้ศึกษาพบว่าผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอีวีไม่ทัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนอีวีเองได้ทั้งหมดหรือไม่คุ้มที่จะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีโรงงานที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้ผลิตชิ้นส่วนรถอีวีที่ต้องการให้จะถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้โรงงานประกอบรถอีวีได้ต้นทุนที่ถูกลง เพราะการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเองต้องพิจารณาที่ Economy of scale ด้วย

“ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอีวี ถือเป็นบิสซิเนสโมเดลใหม่ ที่ในโลกยังไม่มีใครทำแบบนี้ ถ้าทำสำเร็จก็จะปังมาก ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะโตระดับโลก และเราอยากทำให้ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะจับมือกับฟ็อกซ์คอนน์เดินสายโรดโชว์ค่ายรถยนต์ต่างๆ” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า ความแตกต่างที่ ปทต.จะทำร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์ คือการสร้างความยืดหยุ่นให้กับแบรนด์รถยนต์ เพราะปัจจุบันแบรนด์รถยนต์มีเยอะ ประกอบกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่น่าสนใจ ดังนั้นถ้าแต่ละแบรนด์ใช้เวลาเพียงการสร้างโครงแบบรถยนต์ เพื่อนำมาประกอบกับเครื่องยนต์ที่เราผลิต จะคุ้มค่า และช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า

นอกจากนี้ หลังจากที่ ปตท.ได้ข้อสรุปในการร่วมลงทุนกับฟ็อกซ์คอนน์แล้วเสนอให้คณะกรรมการ ปตท.อนุมัติร่วมลงทุน ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งก่อนที่จะได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนนั้น ฟ็อกซ์คอนน์ ได้เจรจากับเอกชนหลายประเทศ เช่น เวียดนาม แต่สุดท้ายได้เลือกที่จะร่วมลงทุนกับ ปตท.เพราะประเทศไทยพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีเต็มที่ รวมทั้ง ปตท.ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมตลาดซัพพบาลเชนขึ้นมา

“คอนเซ็ปต์ของการร่วมลงทุนครั้งนี้คล้ายกับการทำธุรกิจสมาร์ทโฟนของฟ็อกซ์คอนน์ ที่ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนป้อนให้กับผู้ผลิตมือถือได้ทุกราย”

สำหรับ การพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีทั้งฮาร์ตแวร์และซอฟต์แวร์ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถอีวีได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดอีวี และเบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2-3ปี ในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรกปีละ 50,000 คัน และขยายเป็นปีละ 150,000 คัน ในอนาคต

นอกจากนี้ การก้าวเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีวีของกลุ่ม ปตท.เกิดจากจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ที่ ปตท.เริ่มเห็นว่าเกิดเทรนด์การใช้พลังงาน โดยการเอาไฟฟ้าขั้นสุดท้ายมาใช้ และเดินหน้าด้วยเทคโนโลยี สอดรับไปกับวิสัยทัศน์ของ ปตท.ที่ต้องการเดินหน้าธุรกิจ พัฒนา New S-Curve มุ่งเน้นการลงทุนในเทรนด์หลักที่สำคัญของโลก 2 ด้าน คือ Go Green และ Go Electric ดังนั้นจึงมั่นใจว่าแนวโน้มของรถยนต์จะหันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV มากขึ้น

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามวิสัยทัศน์องค์กรที่ว่า Powering Life with Future Energy and Beyond หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต การปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ Next Normal พร้อมสร้าง New S-Curve ให้กับประเทศ"

รวมทั้งหลังจากนี้จะเห็นความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุดจะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Transition fuel ซึ่ง ปตท.ได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางแอลเอ็นจีในอนาคต และ ปตท.มีการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และสร้าง New S-Curve ให้กับประเทศ

“ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะใช้เป็นโอกาสต่อการบริหารจัดการในองค์กร ให้เกิดความร่วมมือ และปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งต่างๆ”