คมนาคมชู "เอ็มอาร์-แมพ" รับห่วงโซ่ผลิตเวทีลุ่มน้ำโขง
คมนาคมถกร่วมลุ่มแม่น้ำโขง - ญี่ปุ่น ชูแผน MR-MAP 9 เส้นทาง เชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์การค้าชายแดน ดึงญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยี ดันไทยขึ้นฮับอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น (MJ-CI) เมื่อเร็วๆนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และญี่ปุ่น
ที่ประชุมประกอบด้วย มีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการลงทุนจาก 5 ประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เลขาธิการอาเซียน ผู้แทนภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น และคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการเข้าร่วมการประชุม
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะรัฐมนตรีฝ่ายไทยผู้เข้าร่วมประชุม ว่า กรอบความร่วมมือนี้ เป็นการสนับสนุนญี่ปุ่นด้านการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต่อยอด เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบริการสำหรับผู้สูงอายุ และมุ่งเน้นการเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ยืนยันถึงการสนับสนุนเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และอำนวยความสะดวกในการลงทุนของญี่ปุ่น ตามหลักการ Thailand + 1 อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับที่ประชุมถึงแผนที่กระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันการเชื่อมโยงระบบการขนส่งในทุกรูปแบบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (Motorway-Rail Map: MR Map) รวม 9 เส้นทาง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันความคืบหน้าของแผน MR-Map อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งแนวคิดของแผน MR-Map กระทรวงฯ ต้องการผลักดันให้มีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่ไปกับระบบรางเป็นเส้นทางเดียวกัน
เบื้องต้นได้กำหนดแนวเส้นทางที่มีศักยภาพนำร่องพัฒนา 4 เส้นทาง ได้แก่
1. เส้นทาง MR5 ชุมพร – ระนอง เชื่อมโยงจากท่าเรือชุมพร ชายฝั่งอ่าวไทย กับท่าเรือระนอง ชายฝั่งอันดามัน ระยะทาง 120 กิโลเมตร
2. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง เชื่อมโยงจากด่านหนองคาย ชายแดน สปป. ลาว ถึงท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก หรือ EEC ระยะทาง 490 กิโลเมตร
3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6)ช่วงนครราชสีมา - อุบลราชธานี เชื่อมโยงจากด่านช่องเม็ก ชายแดน สปป. ลาว ถึงด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนเมียนมา ระยะทาง 880 กิโลเมตร
4. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ เชื่อมโยงทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (Quality Infrastructure) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ซึ่งจะนำ ไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วนกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดย ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ อาทิ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยี Smart Devices และ Cloud Computing ให้แก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวนโยบายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยการส่งเสริมเทคโนโลยี ยังสอดคล้องไปกับนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาลไทย เพื่อผลักดักให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์