โบรกแห่ปรับราคาเป้าหมาย SCB สูงสุด 140 บาท
SCB ราคาพุ่ง 18.72% ทำนิวไฮรอบ 2 ปี ล.เมย์แบงก์ฯ ชี้ ได้ปัจจัยบวกจากแผนปรับโครงสร้างตั้งโฮลดิ้ง ปลดล็อกมูลค่า แฝง 16 บริษัทย่อย คาดสร้างแรงกระเพื่อมให้แบงก์อื่นปรับตัว ด้าน “บล.กสิกรไทย-บล.ยูโอบีฯ” ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายปี 65
ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB วานนี้ (23 ก.ย.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย โดยมีราคาเปิดที่ 131 บาท เพิ่มขึ้น 21.50 บาท หรือ 19.63% จากวันก่อนราคาอยู่ที่ 109.50 บาท ในระหว่างวันทำจุดสูงสุดที่ 137 บาท เพิ่มขึ้น 27.50 บาท หรือ 25.11% ก่อนกลับมาปิดตลาดที่ 130 บาท เพิ่มขึ้น 20.50 บาท หรือ 18.72% ซึ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 2 ปี มูลค่าซื้อขาย 21,242.57 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น SCB วานนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนจากข่าวการปรับโครงสร้างธุรกิจ แม้จะมีปัจจัยกดดันจากกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 ที่คาดว่าจะแผ่วลงจากผลกระทบโควิด-19 แต่เชื่อว่านักลงทุนมองข้ามประเด็นลบดังกล่าวไปแล้ว และหันมาคาดหวังการฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2564 จากการเปิดเมือง นอกจากนี้ ราคาหุ้นยังได้ปัจจัยหนุนจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปี 2565 เป็นบวกต่อหุ้นธนาคาร
สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB ในครั้งนี้ช่วยเพิ่มศักยภาพของกลุ่มบริษัท เพราะเป็นการปลดล็อกมูลค่าแฝงในธุรกิจเดิม อีกทั้งบริษัทยังประกาศจับมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทใหญ่ ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไป นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นยังได้ประโยชน์จากปันผลพิเศษมูลค่า 70,000 ล้านบาท หรือราว 5-6 บาท ต่อหุ้น ซึ่งคาดว่าจะจ่ายในไตรมาส 2 ปี 2565
สำหรับการลงทุน แม้ราคาหุ้นจะปรับขึ้นเต็มมูลค่าที่ บล.เมย์แบงก์ฯ ประเมินเอาไว้ที่ 130 บาทต่อหุ้น แต่ในอนาคตมีแนวโน้มปรับเพิ่มราคาเหมาะสม เพราะคาดว่ามูลค่าของบริษัทที่สะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน จากการปลดล็อก 16 ธุรกิจที่เดิมอยู่ภายใต้ธนาคาร และแผนการนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนฝยตลาดหลักทรัพย์ (Spinoff) บริษัทในกลุ่มอีก 4-5 บริษัท
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของ SCB คาดว่าจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรม ทั้งกับธนาคารที่มีแผนเดินหน้าสู่ดิจิทัลอยู่แล้วอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รวมถึงธนาคารอื่นๆ ที่เดิมยังไม่มีแผนชัดเจนโดยเชื่อว่าจะเห็นการปรับตัวของธุรกิจธนาคารเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ได้มาในรูปแบบโฮลดิ้งอย่าง SCB
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัท มีมุมมองเชิงบวกต่อการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB เพราะคาดว่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับกรณีของ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งเมื่อปี 2551 ซึ่งส่งผลให้ ROE เพิ่มขึ้น และการขยายธุรกิจใหม่ทำได้เร็วกว่าธนาคารอื่นๆ
นอกจากนี้ การจัดตั้งโฮลดิ้งจะช่วยลดภาระการจัดชั้นกองทุนของธนาคาร ส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจใหม่ที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจเดิมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งภายหลังการจัดตั้งโฮลดิ้งจะส่งผลให้กระแสเงินลงทุนกระจายไปได้ตรงจุดมากขึ้น
สำหรับการประเมินมูลค่าธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่นั้น หลายธุรกิจยังทำได้ลำบากเพราะเป็นช่วงที่เพิ่งจัดตั้ง แต่สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่มีความชัดเจนแล้ว และบริษัทมีแผน Spinoff เบื้องต้นคาดว่าจะมี P/BV ที่ 3-3.5 เท่า สูงกว่า P/BV ของธนาคารที่ 0.8 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นกว่าล้านบาท หนุนราคาหุ้นราว 20 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ บล.กสิกรไทย ปรับราคาเหมาะสมของ SCB ใหม่เป็น 139 บาทต่อหุ้น จากเดิม 117 บาทต่อหุ้น
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บล.ยูโอบีฯ ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมของ SCB มาอยู่ที่ 133 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่ 125 บาทต่อหุ้น เพราะได้ปัจจัยบวกจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ภายหลังบริษัทมีแผนแยกธุรกิจบัตรเครดิตออกมาจากธนาคาร และนำมาอยู่ภายใต้โฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นใหม่ รวมถึงมีแผนนำธุรกิจดังกล่าวมาเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศปันผลพิเศษ ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ราว 5%