เปิดไทม์ไลน์ ถอด “SCB” ออกจากตลาด ย้ายขึ้นยานแม่ “SCBX”
เปิดไทม์ไลน์ ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ถอด “SCB” ออกจากตลาด และย้ายไปสู่ “SCBX” ที่ผู้ถือ “หุ้น SCB” ต้องรู้! พร้อมเผยรายชื่อผู้บริหารธุรกิจในกลุ่ม New Growth ความหวังใหม่ของไทยพาณิชย์
หลังประกาศแผนการปลดล็อกธุรกิจครั้งสำคัญของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB ที่ต่อไปขอเป็นมากกว่า “ธนาคาร” โดยจะก้าวขึ้นยานแม่ลำใหม่ นามว่า “SCBX” เพื่อเข้าสู่โลกฟินเทค ทั้งเทคโนโลยี และ ดิจิทัลไฟแนนซ์ แพลทฟอร์มต่างๆ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นสำคัญของการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB GROUP) ครั้งนี้ มีทั้งการ โอนแลกหุ้น (Share Swap) จาก SCB ไปสู่ SCBX โดยหลังจากปรับโครงสร้างเสร็จ ธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นเพียงขาหนึ่งของธุรกิจบนยานแม่ลำใหม่ SCBX
โดย อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ให้เหตุผลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เป็นเพื่อให้คล่องตัวต่อการขยับขยาย ลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่อาจกระทบต่อธุรกิจดั้งเดิมอย่างธนาคารไทยพาณิชย์
“3-4 ปีที่เราทดลองขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้คือ การจะขยับอะไรก็กลัวว่าความเสี่ยงที่จะทำเรื่องใหม่ จะกระทบกำไร และผู้ฝากเงิน แต่พอแยกออกมาแบบนี้ การทำอะไรใหม่ๆก็จะไม่กระทบกำไรแบงก์”
ขณะที่ตามแผนที่วางไว้ คือ จะคงไว้ซึ่งความขลังของ “แบงก์ใบโพธิ์” ที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน มุ่งเน้นรักษาการเติบโตกำไรที่ระดับ 30,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจุดที่พอดีของการเติบโตเชิงคุณภาพ
ในแง่สัดส่วนธุรกิจ ก็จะเริ่มเทน้ำหนักสู่ธุรกิจที่เขานิยามว่า เป็น New Growth เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน และแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568
สำหรับไทม์ไลน์การปรับโครงสร้างข้างต้น ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย.) SCB ได้เปิดเผยขั้นตอนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SCB และการนำหุ้นของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ดังนี้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจโดยอนุมัติให้ดำเนินการแลกหุ้นจาก “SCB” เป็น “SCBx” และนำหุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB”
มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ถือหุ้นทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBx (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBx ) โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90%*
มีนาคม 2565 หุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเพิกถอนหุ้น “SCB” ในวันเดียวกัน
มิถุนายน 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ “SCBx” จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการดังต่อไปนี้
- นำไปซื้อกิจการบางส่วนจากธนาคารตามแผนปรับโครงสร้างของกลุ่ม
- นำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ ตามแผนงานของกลุ่ม
- นำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของ “SCBx”
- นำไปจ่ายเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายของกลุ่ม
*ทั้งนี้ ในกรณีที่มีผู้ตอบรับคำเสนอซื้อ Tender Offer มากกว่า 90% ผู้ที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อ จะยังคงถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเสียสิทธิที่พึงได้จากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"ในอีก 3 ปีข้างหน้า SCBX จะสร้างการจดจำใหม่ ว่า เรา เป็น “ตระกูล X” ที่มีความขลังของเอสซีบีแบงก์ และความใหม่ของธุรกิจเอกซ์ทั้งหมด"
ตามเป้าหมายที่ซีอีโอ SCB เปิดเผยไว้ข้างต้น เรามาดูกันว่า ธุรกิจในกลุ่ม New Growth ที่จะได้เตรียมตัวขึ้นยานแม่ คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) พร้อมด้วยรายชื่อผู้บริหาร หรือ "ขุนพลตระกูล X" นั้น มีธุรกิจประเภทไหน และใครจะเป็นผู้กุมบังเหียนบ้าง
1.บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities) บริหารงานโดย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : Digital Securities และ Brokerage Services โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำในเรื่องการลงทุนและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคอาเซียน
2.บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X) บริหารงานโดย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : นวัตกรรมดิจิทัล (disruptive digital innovation) และการลงทุนในกองทุน (Venture Capital)
3.บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) บริหารงานโดย นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษาและวางแผนธุรกิจเกี่ยวกับ Tokenization พัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) บริหารงานโดย นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
ลักษณะธุรกิจ : เป็นบริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุน ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน โดยให้บริการแพลตฟอร์มการเงินครบวงจร
5.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB TechX) บริหารงานโดย นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : เป็นฟินเทคแพลตฟอร์มที่มุ่งขยายขีดความสามารถด้าน Technology Development เพื่อให้บริการในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยบริษัทร่วมทุน ระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ผู้ให้บริการโซลูชันทางดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลก
6.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริหารงานโดย นายสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ
ลักษณะธุรกิจ : แอพพลิเคชั่น “โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย มีฐานลูกค้าผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มกว่า 2 ล้านคน และตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มเป็น Super App ในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการระดมทุน
7.บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) บริหารงานโดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : ให้บริการแอพพลิเคชันสินเชื่อออนไลน์ ระดมทุนผ่านซีรีส์ A ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในด้านรายได้และสินเชื่อด้วยเป้าหมายเติบโต10 เท่า
8.บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) บริหารงานโดย นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : พัฒนาโซลูชันแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปี มีลูกค้ากว่า 15,000 องค์กรเข้าร่วมในซัพพลายเชนแพลตฟอร์ม
9.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X) บริหารงานโดย นายวศิน ไสยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : ประกอบธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับพาหนะระดับลักซ์ชัวรี โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจคำปลีกยานยนต์ชั้นนำในประเทศไทย
10.บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) บริหารงานโดย นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เพื่อร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ครอบคลุมฐานลูกค้าทั้งสององค์กรกว่า 50 ล้านคน ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
11.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X) บริหารงานโดย นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : บริษัทใหม่ที่จะบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (title loan) เตรียมเปิดตัวให้บริการในไตรมาส 1/2565
12. บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X) บริหารงานโดย นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : เป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากธนาคาร ทำธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และ IPO ในปี 2024
13.บริษัท บริหารสินทรัพย์ คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X AMC) - อยู่ระหว่างการจัดตั้ง
14.บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital (SCB – CP Group JV) (อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย) บริหารงานโดย นางมุขยา พานิช Managing Partner
ลักษณะธุรกิจ : เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือร่วมกันก่อตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน (Blockchain), สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets), เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก
15.บริษัท ดาต้า เอกซ์ จำกัด (Data X) บริหารงานโดย Mr.Yizhak Idan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ลักษณะธุรกิจ : เป็น Center ในการ Integrate Data ของทั้ง SCBX Group รวมถึงในส่วนของภาพรวมทั้งหมด เพื่อที่จะสร้างขีดความสามารถในการทำงานควบคู่กับบริษัทที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง (Blue Ocean)