“บูสเตอร์”เศรษฐกิจเข็ม 3 คราวนี้ต้องใช้ของดี(จริงๆ)
หากเปรียบเทียบการรักษาอาการโคม่าทางเศรษฐกิจกับการรักษาหรือป้องกันอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ก็คงมาถึงขั้นที่ต้องใช้คำว่า “บูสเตอร์” กันแล้ว
ในทางโรคภัยไข้เจ็บคือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สู้กับไวรัสได้มากขึ้นๆ เพราะไวรัสพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ในทางเศรษฐกิจต้องบอกว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเกิดจากพิษโควิดนั้น ไม่ต่างอะไรกับวัคซีนตัวหลักที่ใครหลายคนได้รับไปก่อนหน้านี้ ที่คนรอบข้างรับวัคซีน 2 เข็มแล้วยังติดโรคและค่อนข้างหนักแม้จะไม่ลงปอดแต่ก็เรียกได้ว่าเฉียดๆ เป็นข้อกังขาว่าที่ฉีดกันไป 2 เข็มแทบจะไร้ผล
ความพยายามมองหาวัคซีนใหม่มา “บูสเตอร์” เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับแผนขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิม 60% ต่อจีีดีพี เพื่อปูทางสู่การกู้เงินเพิ่มนำมา “บูสเตอร์” เศรษฐกิจ หลังจากที่ไทยมี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2) กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพิ่มจาก พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2563 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563)
การกู้เงินที่ผ่านๆ มาเป็นเหมือนวัคซีน 2 เข็มแรกที่คนไทยได้รับ คือมีอาการ เจ็บแต่ไม่จบ พร้อมจะติดโรคและเดี้ยงได้ทุกเมื่อ ดูได้จากเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2563 ก็ติดลบหนัก 6.1% และปีนี้หลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในกรอบโตน้อยถึงไม่โตกันเลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจหรือจีดีพีไม่โตแน่นอน สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากจีดีพีเพิ่ม สัดส่วนหนี้ก็จะลดลง เป็นตัวแปรผันกันไป-มา ดังนั้น การกู้เงินแบบทะลุเพดานหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร แต่คำถามคือการใช้เงินที่กู้มาเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จะเป็นการเติมรายได้ในฝั่งจีดีพีเพื่อให้อีกฝั่งคือสัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงไปนั่นเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้นั้นต้องใช้ “ของดี” มาช่วย
จากนี้ไปประเทศไทยจะใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่บูสเตอร์ภูมิคุ้มกันแต่จะช่วยบูสเตอร์เศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อคนเข้มแข็ง-เศรษฐกิจก็เข้มแข็ง เปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว ได้รายได้ก็เข้ามาเป็นประโยชน์จากการเลือกใช้ของดีที่เห็นได้ชัดแล้วประการหนึ่ง
ในอีกด้านการเลือกใช้ของดี นั่นคือการกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี เหมาะสมกับเงินที่มีมากมายมหาศาล จะเป็นคำตอบว่า เศรษฐกิจไทยจะรอดหรือจะร่วง เพราะมาตรการที่ผ่านๆ มาถือว่ายังไม่โดน ่ยกเว้น “คนละครึ่ง” ที่เข้าถึงพึ่งได้ ถ้วนหน้าแม้จะน้อยไปหน่อย
ส่วนมาตรการอื่นๆ รวมถึงการแจกเงินก็ดูจะไม่บรรเทาอาการโคม่าทางเศรษฐกิจเลย ไม่ต่างกะวัคซีนที่ได้กันมา เรียกได้ว่าภูมิไม่ขึ้น แต่เสียเงินค่าวัคซีนไปแล้ว ส่วนเงินกู้ก่อนหน้านี้ก็มีดอกเบี้ยปีละหลายแสนล้านบาทเป็นเครื่องเตือนใจว่า นี่คือต้นทุนการใช้เงินในอนาคต
ดังนั้น แผนบูสเตอร์เศรษฐกิจบนฐานเงินกู้ก้อนใหม่ ต้องใช้อย่างฉลาด เหมือนการเลือกใช้ของดีๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน