ซีอีโอชี้การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ กระทบศก.ธุรกิจ แนะ ยุบสภา-ปรับครม.

ซีอีโอชี้การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ กระทบศก.ธุรกิจ แนะ ยุบสภา-ปรับครม.

ซีอีโอ 82% ระบุการเมืองไทยไร้เสถียรภาพ กระทบเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นธุรกิจอย่างมาก แนะ“ยุบสภา-ปรับ ครม.”แก้วิกฤติ ชี้เสถียรภาพการเมือง “มั่นคง” ปัจจัยสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจ ย้ำไทย “ไม่พร้อม” เปิดประเทศ แนะควรฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้ประชาชนครอบคลุมอย่างน้อย 50-70%

ซีอีโอชี้การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ กระทบศก.ธุรกิจ แนะ ยุบสภา-ปรับครม.

กรุงเทพธุรกิจ สำรวจความคิดเห็น 150 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก บริการ ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภคบริโภค สุขภาพและไอทีดิจิทัล เกี่ยวกับ “เสถียรภาพการเมืองไทย ต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแผนเปิดประเทศ” สำรวจระหว่างวันที่ 20-26 ก.ย.2564 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

หลังเสร็จศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกิดแรงกระเพื่อมการเมือง แบ่งเป็นกลุ่มก๊กเกิดการต่อรอง สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลที่อาจกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูประเทศในภาวะวิกฤติโควิด-19 รวมถึงแผนการเปิดประเทศ

จากการสำรวจพบว่า ซีอีโอ 82.4% ไม่มั่นใจเสถียรภาพทางการเมืองปัจจุบัน กว่า 52% ชี้ว่า ปัญหาทางการเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจมาก

ซีอีโอส่วนใหญ่แนะทางออกการแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่มั่นคง ด้วยการ “ยุบสภา” (39.6%) หรือ “ปรับคณะรัฐมนตรี” (38.3%) ขณะที่ 24% บอกว่า รัฐบาลควรอยู่ให้ครบเทอมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ต่อเนื่อง ขณะที่ซีอีโอราว 11% แนะให้ลาออก 

ซีอีโอ 65% ระบุว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่ “มั่นคง” จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ และนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้

ส่วนข้อเสนอทางออกอื่น เช่น แนะให้แก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากนั้นค่อยยุบสภา รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นสำคัญไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหม่ หรือจะแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา สกัดคนนอกมาเป็นนายกฯ 
อ่านข่าว : เปิดข้อเสนอ 150 ซีอีโอ “เร่งเข็ม3” เปิดเมืองท่องเที่ยว

ซีอีโอบางส่วน เห็นว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะระบบราชการ กฎหมาย รวมถึงการคอร์รัปชัน ปรับโครงสร้างทางการเมือง ผ่าตัดประเทศไทย แนะให้รัฐบาลทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้น สร้างความโปร่งใสในทุกเรื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า หากทางออก คือ การปรับ ครม. ควรปรับส่วนไหนมากที่สุด ซีอีโอกว่า 44% ระบุว่า ควรปรับทั้งคณะ รองลงมา 38.3% ปรับทีมรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และ 30.4% ปรับทีมรัฐมนตรีด้านสาธารณสุข

แนะนายกฯกล้าปรับ ครม.

การสำรวจครั้งนี้เปิดให้ซีอีโอแสดงความเห็นเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเสถียรภาพการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจและการลงทุน โดยมีซีอีโอเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญ บางมาตราที่เป็นปัญหาอาจเป็นหนึ่งในทางออกที่ดี 

รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลควรปรับรูปแบบการทำงานควรเปิดใจรับฟังเสียงประชาชน เอกชน ภาคธุรกิจมากขึ้น ใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารรวม ทั้งปฏิรูประบบการทำงาน และ Mindset ของข้าราชการให้สอดคล้องกับการบริหารในสถานการณ์ปัจจุบัน

“นายกฯ ต้องกล้าตัดสินใจ ไม่คำนึงเรื่องการเมือง หรืออาจต้องตัดสินใจ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ไม่น่าเชื่อออกไป ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมองเป้าหมายหลักให้ได้ร่วมกัน แก้ปัญหาม็อบรายวันแต่ต้องฟังเสียงเรียกร้องของคนทุกกลุ่ม”

 

เสนอแก้รัฐธรรมนูญ

ซีอีโอบางราย เสนอว่าให้แก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนของ ส.ว.250 คน จากนั้นอาจต้องตัดสินใจยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องแก้อย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบพรรคอื่น

“หนึ่งในทางออก คือ ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ หากยังไม่ถึงจุดนั้น รัฐต้องพยายามแก้ปัญหาทำให้สถานการณ์นิ่ง สะท้อนการสร้างความเชื่อมั่น จริงจังกับเรื่องที่อนุมัติ ชี้แจงให้ชัดเจน เพิ่มการตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ให้โปร่งใส ขณะที่ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจและใช้คนให้ถูกกับงาน ไม่ห่วงเรื่องการเมืองมากเกินไป”

มีคำแนะนำว่า รัฐบาลควรหารัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศที่มีชื่อเสียงยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ สร้างระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ โดยเฉพาะCountry spokesman และ national public relations ที่เข้าใจสื่อ

‘ซีอีโอ’ชี้ไทยไม่“พร้อมประเทศ”

สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนคลี่คลายลง จนรัฐบาลวางแผนที่จะเปิดประเทศในช่วงเดือนตุลาคม ซีอีโอให้ความเห็นประเด็นนี้  กว่า 50% มีมุมมองว่าไทยยัง “ไม่พร้อม” เปิดประเทศ ซีอีโอมากกว่า 64% ระบุว่า เพราะปริมาณการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ยังไม่ครอบคลุมมากพอ หวั่นเกิดคลัสเตอร์ใหม่ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ 59.2% ยังคงไม่เชื่อมั่นการบริหารจัดการ การแก้วิกฤติโควิด ของรัฐบาลทั้งระบบ ที่สำคัญประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ขณะที่เข็มที่สอง ยังไม่ครอบคลุมมากพอ มีซีอีโอ ราว 41% บอกว่า ที่ยังไม่พร้อมเปิดประเทศ เพราะแผนขับเคลื่อนธุรกิจมาตรการเยียวยาหลังเปิดประเทศของรัฐ “ไม่มีความชัดเจน”

ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น หากเปิดประเทศควรเปิดแบบมีเงื่อนไข อาจเปิดเฉพาะในประเทศก่อนสัก 2-3 เดือน เพื่อดูความพร้อม แล้วค่อยตัดสินใจเปิดรับชาวต่างชาติ หรือเปิดให้เฉพาะนักธุรกิจ หรือคนทำงานต่างชาติเท่านั้น

แนะเร่งฉีดเข็ม2-3

หรือเน้นเปิดเฉพาะส่วนที่พร้อมในบางพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาค แต่ที่สำคัญรัฐต้องมีมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และควรเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2 และ 3 ให้จบให้ได้ในสิ้นปี 2564 ซีอีโอบางส่วน มองว่า หากรัฐบาลมุ่งมั่นจะเปิดประเทศ ก็ควรมีนโยบายการป้องกันที่รัดกุม เพื่อลดการแพร่กระจายอีกรอบ ขณะที่ระบบสาธารณสุขควรต้องเข้มแข็งมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเปิดประเทศ ยังมีซีอีโอกว่า 45.6% ที่เห็นว่าไทย “พร้อมแล้ว” ที่จะเปิด โดยเหตุผลหลักของซีอีโอกว่า 79% บอกว่า ธุรกิจรอไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อเพื่อลดผลกระทบ การปิดกิจการและสกัดคนตกงานเพิ่ม รองลงมา 58% ประเทศควรเปิด เพื่อทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น แต่รัฐต้องควบคุมอย่างเข้มงวด 

ซีอีโอบางส่วน เชื่อว่า การเปิดประเทศ เป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญประเทศ ทั้งเรียกความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งย้ำว่า อาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ เหมือนอยู่ร่วมกับไข้หวัดจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น

หวั่น“กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์”

เมื่อซีอีโอส่วนใหญ่ ยังไม่มั่นใจในการเปิดประเทศ แผนการเปิด กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์ ในเดือน ตุลาคม จากผลสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอกว่า 80% ระบุว่า “ไม่มั่นใจ” เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่า หากความไม่พร้อมไม่เต็มที่ อาจเป็นต้นตอไปสู่การระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลคุมไม่อยู่ แก้สถานการณ์ได้ยากขึ้น ระบบสาธารณสุขจะรับไม่ไหว หากมีการติดเชื้อเพิ่ม 

ทั้งยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจจะยิ่งทรุดหนัก ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่สำคัญปริมาณการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ และในกรุงเทพยังไม่ครอบคลุมมากพอ ขณะที่ การแจกชุดตรวจ ATK ยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และอาจมีความไม่แม่นยำหากประชาชนตรวจด้วยตัวเอง

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจเปิดประเทศ และ Bangkok Sandbox ได้ ควรมีปัจจัยสนับสนุนอะไรเป็นหลัก ซีอีโอ 66.4% ชี้ว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 2 ต้องเกิน 70% ขณะที่ 53.7% เห็นว่า รัฐบาลควรมีแผนรับมือฉุกเฉินหากเกิดการระบาดเพิ่มในช่วงเปิดเมือง แผนต้อง “ชัดเจน” และรับมือได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจหลังเปิดประเทศ และเปิดเมืองของรัฐบาลต้องชัดเจน และเป็นรูปธรรมเช่นกัน การปูพรมฉีดวัคซีนต้องเร็ว และครอบคลุมมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ขณะที่ มาตรการของสถานบริการ ร้านค้าต่างๆ ต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น และจะดียิ่งขึ้นไปอีก

จี้รัฐเร่งวัคซีนให้ครบ 2 เข็มเกิน 50%

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอกว่า 64.2% เห็นว่า เวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดประเทศได้ ประชาชนต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ครอบคลุมมากกว่า 50-70% ของประชากร มีแผนสาธารณสุขรองรับในกรณีที่มีการระบาดใหม่ ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น เสนอให้เปิดเมืองท่องเที่ยวช่วง 1 พฤศจิกายน และวันที่ 25 ธ.ค. เปิดทั่วประเทศ แต่มีเงื่อนไขฉีดวัคซีนต้องครอบคลุม 70% ขึ้นไป

เมื่อถามว่าเจาะลึกลงไปว่า รัฐบาลควรมี “มาตรการเพิ่มเติม” ลักษณะใด ดำเนินการควบคู่ไปกับแผนเปิดประเทศใน 120 วัน ซีอีโอมากกว่า 77% ให้ความสำคัญเรื่องการกระจายจุดฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาชนเข้าถึงง่าย ขณะที่ 56.4% ต้องการให้รัฐเน้นบังคับใช้กฎหมาย ต้องกำหนดบทลงโทษอย่างเฉียบขาดกับผู้ฝ่าฝืน หรือสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 

ซีอีโอ 51.7 % ให้ความสำคัญเรื่องการคัดกรองคนเข้า-ออก ประเทศ เช่น ต้องมีวัคซีน พาสปอร์ต หรือยังต้องใช้มาตรการกักตัวในเวลาที่กำหนด 

ส่วนข้อเสนอแนะอื่น เช่น รัฐอาจต้องกำหนดแผนเฉพาะกิจ รองรับการระบาดใหม่ที่ชัดเจน และปฏิบัติได้ รวมถึงเน้นการบริหารการฉีดวัคซีนให้กลุ่มหลักๆ ที่สร้างให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในตลาด เช่น สถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพราะจะกระจายรายได้สู่หอพัก ร้านอาหาร ตลาด และอื่นๆ ในบริเวณพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 

ขณะที่ ควรกระจายชุดตรวจ ATK ให้ทั่วถึงในราคาไม่สูงเกินไป (30-40 บาท) ให้ประชาชนเข้าถึงได้เหมือนต่างประเทศ รวมถึงศึกษาการใช้ยาตัวใหม่ สมุนไพรในการรักษาที่ราคาไม่แพงเกินไป และดูแลให้เข้มงวดกับการดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ เช่น ศูนย์การค้า

ธุรกิจเน้นปรับตัวให้ Lean-คุมเงินสด

ซีอีโอยังได้ประเมินแผนธุรกิจ หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศใน 120 วันด้วยว่า ทิศทางจะเป็นไปในแบบใด ซีอีโอ 74.5% เน้นแผนปรับองค์กรให้มีความ Lean เน้นความคล่องตัวสูง (Agility) สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้รวดเร็ว และเน้นรักษากระแสเงินสดเอาไว้ รองลงมา 51% เน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่ม ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องมือดิจิทัล เสริมกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจในทุกมิติ 

ซีอีโอ 43% พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ (Cross Industry) ตอบโจทย์โลกยุค เน็กซ์นอร์มอล พร้อมทั้งเร่งกระจายความเสี่ยงสู่การดำเนินธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ มีซีอีโอ กว่า 33.6% จะหาผู้ร่วมทุน พาร์ทเนอร์ เสริมแกร่ง สร้างจุดแข็งให้ธุรกิจ

เมื่อถามว่า จากแผนเปิดประเทศใน 120 วัน ประเมินแนวโน้ม จีดีพี ปี 2564 จะไปจบที่ใด ซีอีโอกว่า 40.9% ระบุว่า จีดีพีประเทศ น่าจะอยู่ราว 0.0-1.0%